เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2567 หญิงสาวจากโอคลาโฮมาชื่อว่า แพตตี วิลส์ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กของเธอเอง เป็นภาพถุงสินค้าซึ่งมีงูตัวหนึ่งอยู่ข้างใน

วิลส์ เขียนข้อความบรรยายภาพไว้ โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้เธอสั่งซื้อกางเกงทางออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน “ทีมู” (Temu) พอได้รับของแล้วก็วางทิ้งไว้ราว 1 สัปดาห์โดยที่ยังไม่ได้เปิดดู และเมื่อเธอแกะห่อเพื่อนำกางเกงที่สั่งไว้ออกมาดู ก็เจอเข้ากับงูเป็น ๆ เข้าให้ ดังที่เห็นในรูปถ่าย

ทั้งภาพและข้อความในโพสต์นี้ของ วิลส์ มีผู้แชร์ออกไปมากกว่า 11,000 ครั้ง และมีชาวโซเชียลจำนวนมากที่กล่าวว่าไม่อยากจะไว้ใจการสั่งสินค้าจากแอปยอดนิยมของจีนอีกต่อไป 

วิลส์ ให้ข้อมูลว่าสินค้าที่เธอสั่งนั้น ส่งมาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นต้นทางของแอปพลิเคชันดังกล่าว รวมถึงสินค้าส่วนใหญ่ที่มีราคาถูก อย่างไรก็ตาม เธอไม่ได้บอกว่าในที่สุดแล้วได้จัดการอย่างไรกับงูตัวนั้น ขณะเดียวกัน ทาง ทีมู ก็ไม่ได้ออกแถลงการณ์อธิบายใด ๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 

เมื่อโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ทางกลุ่มผู้นิยมสัตว์ประเภทงูบนเฟซบุ๊ก “Snake Identification: Discussion and Resources” ก็ได้หยิบยกภาพถ่ายดังกล่าวมาเป็นประเด็นในการวิจารณ์โดยผู้ที่ยังสงสัยว่า จะมีงูหลุดรอดเข้ามาในหีบห่อสินค้าและเดินทางไกลเป็นเวลาหลายสัปดาห์ จากจีนมาถึงสหรัฐโดยที่ยังอยู่รอดปลอดภัยได้อย่างไร รวมถึงถามหาผู้เชี่ยวชาญให้เข้ามาดูเพื่อระบุชนิดของงูในภาพ

ต่อมาก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มคนรักงูดังกล่าวชี้ว่า งูในภาพน่าจะเป็นงูวัยรุ่น สายพันธุ์ North American racer ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าผู้เป็นเจ้าของภาพจะอ้างว่าเป็นงูในถุงใส่สินค้าที่มาจากเมืองจีนก็ตาม พร้อมกับแสดงความเห็นว่า งูตัวนี้อาจจะแอบเลื้อยเข้าไปในถุงพลาสติกดังกล่าว หลังจากที่สินค้าถูกส่งมาที่สหรัฐแล้ว 

ด้าน จอห์น คลอปเฟอร์ นักสัตววิทยาจากหน่วยรักษาพันธุ์สัตว์ป่ารัฐเวอร์จิเนีย ให้คำอธิบายหลังจากปรึกษาเพื่อนร่วมงานแล้วว่า งูในภาพของ วิลส์ น่าจะเป็นงูแส้หรืองูโคชวิป (Coachwhip) ซึ่งเป็นสายพันธุ์พื้นเมืองของโอคลาโฮมา รูปร่างของมันคล้ายกับงู North American racer มาก และเป็นงูไม่มีพิษเหมือนกัน

นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นไปไม่ได้เลยที่งูดังกล่าวจะมียังคงมีชีวิตอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์ในถุงสินค้าที่ซีลปิดสนิท ดังนั้น การที่ วิลส์ อ้างว่างูในถุงใส่กางเกงของเธอเป็นงูที่ติดมาจากเมืองจีนนั้น ไร้สาระโดยสิ้นเชิง

ด้าน สตีเวน แมคเคสซีย์ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องงูจากมหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นโคโลราโด กลับมีความเห็นที่ต่างออกไปเล็กน้อย เขาเห็นด้วยกับคนจากเฟซบุ๊กกลุ่มคนรักงูว่า งูในภาพน่าจะเป็นงูที่ยังโตไม่เต็มที่ และไม่น่าจะเป็นงูที่มาจากประเทศจีน แม้ว่าที่จีนก็มีงูสายพันธุ์ Racer เหมือนกันก็ตาม

ส่วนภาพถ่ายที่ วิลส์ โพสต์นั้น แมคเคสซีย์ มองว่าอาจเป็นภาพตัดต่อหรือจัดฉากขึ้น แต่งูในภาพเป็นงูจริงอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม แมคเคสซีย์ ได้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวว่า เขาเองก็เคยสั่งสินค้าและมีงูติดมาด้วยในหีบห่อที่บรรจุเช่นกัน โดยเป็นงูพิษตัวเล็กที่ติดมากับเฟอร์นิเจอร์ซึ่งบริษัทจากเดนเวอร์สั่งมาจากไต้หวันอีกที เขาจึงมองว่า มีความเป็นไปได้ที่สัตว์บางอย่างจะ “เดินทาง” รอบโลกไปพร้อมกับหีบห่อสินค้าโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีขนาดเล็กอย่างงูหรือสัตว์เลื้อยคลานตัวเล็ก ๆ ซึ่งมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อสิ่งมีชีวิตเป็นระยะเวลานาน ๆ 

ที่มา : snopes.com

เครดิตภาพ : Facebook / Patty Wills