เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานป้องกันและปราบปรามการขับขี่รถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น แข่งรถในทาง และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้คณะทำงานฯ นำโดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ขับเคลื่อนกวดขัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยมีตนเป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ ประสานความร่วมมือทั้งงานป้องกันปราบปราม บูรณาการร่วมกับงานจราจรและสืบสวนสอบสวน เป็นผู้สนับสนุนข้อมูลให้กับสถานีตำรวจในการเฝ้าระวัง

“คณะทำงานป้องกันและปราบปรามการขับขี่รถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น แข่งรถในทาง และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ตร. ให้นโยบายรับมือกับการนัดหมายรวมกลุ่มของเด็กแว้น แข่งรถในทาง ผ่านทางโซเชียลมีเดียช่องทางต่างๆ ทั้ง ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง พร้อมดำเนินการตามแนวทางมาตรการเชิงรุก 4 ข้อ” พล.ต.ท.สำราญ กล่าว

ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า แนวทางป้องกันพื้นที่ “ต้นทาง” ที่มีการรวมตัวกัน ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าประชาสัมพันธ์พูดคุยเจรจาทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่างๆ ทำความเข้าใจ หรือ MOU ข้อตกลงการจัดกิจกรรมอย่างเหมาะสม และไม่เป็นการรบกวนผู้ใช้รถใช้ถนนในเส้นทางนั้น พื้นที่ “กลางทาง” ตลอดเส้นทางถึงจุดหมาย ให้บูรณาการกำลังตั้งจุดตรวจจุดสกัด กวดขันวินัยจราจร บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะข้อหา “ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยฯ” และ พื้นที่ “ปลายทาง” ให้เฝ้าระวังพฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่น ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับพี่น้องประชาชน และนักท่องเที่ยว แล้วประชาสัมพันธ์ให้การจัดกิจกรรมนั้น ไม่ไปรบกวน หรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น

พล.ต.ท.สำราญ กล่าวว่า ได้กำหนด 4 มาตรการเชิงรุกในการป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง ดังนี้

1.มาตรการก่อนเกิดเหตุ
-สืบสวนหาข่าวจากทุกช่องทาง เช่น เฟซบุ๊ก กลุ่มไลน์ โซเชียลมีเดีย ประชาชนในพื้นที่
-จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว ตั้งด่านกวดขันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกตรวจตรา แหล่งมั่วสุม จุดนัดหมาย สถานศึกษา ร้านแต่งรถ ฯลฯ

  1. มาตรการขณะเกิดเหตุ
    -วางแผนดำเนินการปิดล้อมจับกุม
    -วางแผนบูรณาการกับทุกฝ่าย และหน่วยงานสนับสนุนในพื้นที่

3.มาตรการสอบสวนขยายผล
-หากผู้กระทำผิดเป็นประชาชน ผู้ปกครองมีความผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ
-แอดมินเพจผู้ชักชวน คนซ้อน กองเชียร์ มีความผิดฐานสนับสนุน

4.มาตรการเฝ้าระวังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
-บันทึกข้อมูลกลุ่มเสี่ยงต่อการแข่งรถในทางในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ไว้ในระบบ CRIME อย่างเป็นระบบ
-บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดอบรมความประพฤติเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำผิดและกลุ่มเสี่ยง ให้มีจิตสาธารณะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม และพร้อมกลับคืนสู่สังคม

พล.ต.ท.สำราญ กล่าวอีกว่า ได้นำข้อมูลการปราบปรามการแข่งรถในทาง หรือแว้น ในพื้นที่ สภ.พระสมุทรเจดีย์ จว.สมุทรปราการ ที่วางแผนปิดล้อมจับกุมและขยายผลจนสามารถดำเนินคดีกับเด็กแว้นได้ทั้งหมด 32 ราย ยึดรถ 49 คัน ศาลพิพากษาจำคุก 3 เดือน ปรับรายละ 10,000 บาท ริบรถจักรยานยนต์ของกลางทุกคัน สำหรับผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนได้ขยายผลถึงพ่อแม่ผู้ปกครองทั้งหมด โดยศาลสั่งลงโทษผู้ปกครอง ปรับรายละ 10,000 บาท ในข้อหา “ส่งเสริม หรือ ยินยอม ให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำความผิด” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ พ.ศ.2546 และกรณีท้องที่ สภ.เมืองพัทลุง ดำเนินคดีแอดมินเพจที่โพสต์ชักชวน ขยายผลไปถึงผู้ที่โพสต์ ชักชวน คนซ้อนท้าย กองเชียร์ มีความผิดฐาน เป็นผู้สนับสนุน ต้องถูกระวางโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และในกรณีของเพจ สจ.บางซ่อน ที่มีการโพสเฟซบุ๊กชวนกันไปออกทริป ซึ่งมีการนัดรวมตัวกันในหลายพื้นที่ หลายจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการเข้าไปประชาสัมพันธ์ไม่ให้ขับขี่รถกีดขวางการจราจรกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน หรือยกล้อ ขับรถประมาทหวาดเสียวเช่นเดียวกับกลุ่มที่รวมตัวกันเป็นลักษณะทริปสายบุญ ทริปน้ำไม่อาบ เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ต้นทางจนถึงปลายทางจะเฝ้าติดตามถ้ามีการกระทำผิดกฎหมายก็จะมีการดำเนินคดีจนถึงที่สุดทุกข้อหา ซึ่งศาลเคยมีคำพิพากษายึดรถมาแล้ว สำหรับกลุ่มที่ไปยกล้อบนทางขึ้นภูทับเบิก เป็นต้น

นอกจากนี้คณะทำงานฯ จะขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาเด็กแว้นอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยกับประชาชนอย่างแท้จริง ขอเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดระเบียบสังคม พบเห็นเด็กแว้นหรือการกระทำผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง แจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน 1599 หรือ 191