เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารกระทรวง ได้ร่วมพิธีเซ็นสัญญาจัดหาวัคซีนโควิดระหว่างกรมควบคุมโรค กับ นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 60 ล้านโด๊ส สำหรับปี 2565

นายอนุทิน กล่าวว่า การลงนามซื้อวัคซีนแอสตราฯ จำนวน 60 ล้านโด๊ส สำหรับปี 2565 นั้น งบประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นเข็มบูสเตอร์ โดยการเจรจาสัญญารอบนี้ได้เงื่อนไขที่ดีขึ้น ได้ราคาดีขึ้น ไม่ต้องมัดจำเงินจองวัคซีน จะจ่ายเมื่อส่งมอบวัคซีน นอกจากนี้ในสัญญาระบุด้วยว่าหากระหว่างทยอยส่งมอบการพัฒนาวัคซีนเจนเนอเรชั่น 2 สำเร็จ สามารถเปลี่ยนเป็นวัคซีนเจนฯ 2 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้การจัดส่งแบ่งเป็น 3 ไตรมาส คือไตรมาสที่ 1 จำนวน 15 ล้านโด๊ส ไตรมาส 2 อีก 30 ล้านโด๊ส และไตรมาสที่ 3 จำนวน 15 ล้านโด๊ส ครบ 60 ล้านโด๊ส และหากผผู้ผลิตวัคซีนพัฒนาฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้ไทยอาจใช้ส่วนนี้ได้โดยไม่ต้องสั่งเพิ่ม

นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การสั่งซื้อวัคซีนแอสตราฯ ในสัญญาใหม่ใช้ฐานผลิตในประเทศไทย คือบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งขณะนี้สามารถเพิ่มกำลังการผลิต 20 ล้านโด๊สต่อเดือน จากเดิมผลิต 15 ล้านโด๊ส ทั้งนี้ หากการผลิตในไทยติดขัด ทางแอสตราฯ จะจัดหาจากที่อื่นมาให้ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกัน สำหรับการใช้วัคซีนแอสตราฯ เพื่อบูสเตอร์นั้น เบื้องต้นพบการฉีดแอสตราฯ บูสแก่ผู้ฉีดแอสตราฯ 2 เข็ม พบว่าได้ผลดี รวมถึงการฉีดสูตรไขว้ก็ได้ผลดี ส่วนการบูสเตอร์แอสตราฯ หลังฉีด mRNA ต้องรอข้อมูลจากงานวิจัย เบื้องต้นพบแอสตราฯ มีข้อดีในการกระตุ้นภูมิฯ ระดับเซลล์ ส่วน mRNA ใช้กระตุ้นภูมิฯ ระดับแอนติบอดีสูง ดังนั้น 2 ชนิดอาจสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน

“เราพยายามจัดหาวัคซีนชนิดอื่นด้วย จะไม่เอามาเยอะเกินไป แต่ไม่น้อยเกินไป ต้องเผื่อ ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้น เพราะวัคซีนแต่ละตัวมีผล มีงานวิจัยมากขึ้น ทำให้การจองวัคซีนไม่ได้อยู่บนความเสี่ยงมากเหมือนปีที่แล้ว การซื้อวัคซีนจะเห็นผลของมันชัดเจน เราจะพิจารณาได้เป็นตัวๆ ปี 2565 น่าจะมีวัคซีนที่เพียงพอ จำนวนมากพอสมควร และความต้องการใช้ไม่เยอะเหมือนปีนี้ เพราะจนถึงสิ้นปี 2564 จะมีผู้ได้รับวัคซีนจำนวนมากขึ้นแล้ว ซึ่งจะมีวัคซีนที่เหลื่อมถึงปีหน้า ใช้ระหว่างรอยต่อการจัดหาของปีหน้า” นพ.นคร กล่าว

แหล่งข่าวระดับสูง รายงานว่า เดิมการสั่งซื้อแอสตราฯ ในปี 2564 เป็นไปตามนโยบายของผู้พัฒนาคือไม่ขาดทุน และไม่หวังกำไร (No Profit No loss) ทำให้ประเทศไทยได้รับการทำสัญญาซื้อในอัตราประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อโด๊ส หรือราวๆ 170 บาทต่อโด๊ส พร้อมกับการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ โดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ส่วนนโยบายในการจำหน่ายวัคซีนแอสตราฯ ในปีต่อไป จะมีการทำกำไร แต่ไม่มากจนเกินไป ดังนั้นจึงทำให้ประเทศไทยซื้อวัคซีนในราคาที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก โดยเฉลี่ยการสั่งซื้อวัคซีนแอสตราฯ สำหรับปี 2565 จำนวน 60 ล้านโด๊ส ใช้งบฯ 1.8 หมื่นล้านบาท จะเท่ากับเป็นการซื้อวัคซีนราคา 8.86 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อโด๊ส คิดเป็นเงินไทยประมาณ 300 บาท ต่อโด๊ส .