เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนางชญาดา วิภัติภูมิประเทศ รองประธานสภากรุงเทพมหานคร (คนที่ 1) และ ส.ก.เขตคันนายาว นายนพ ชูสอน ผู้อำนวยการเขตคันนายาว คณะผู้บริหารเขต และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมพิธีเปิดกิจกรรม Kick Off โครงการเร่งรัดกำจัดโรคพิษสุนัขบ้า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ที่วัดคลองครุ(ปัฐวิกรณ์) เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร โดยมีนายคุณากร ปรีชาชนะชัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี

นายพลภูมิ กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการ ระหว่างวันที่ 1 มี.ค – 31 ส.ค.67 ใน 50 เขต ของ กทม.และทั่วประเทศ ซึ่งในเขตคันนายาวเริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว ซึ่งกิจกรรมจะมีการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงการให้ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าแก่ประชาชนนายพลภูมิ กล่าวอีกว่า การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการสำรวจข้อมูลประชากรสุนัขและแมวที่ไม่ครอบคลุม ทำให้การวางแผนการควบคุมและป้องกันโรคโดยเฉพาะการฉีดวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากจำนวนวัคซีนและจำนวนประชากรสัตว์ไม่สอดคล้องกัน เพราะที่ผ่านมาการสำรวจสัตว์เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ยังคงเก็บข้อมูลด้วยการจดลงกระดาษ แล้วนำมาบันทึกข้อมูลลงฐานข้อมูลในภายหลัง ส่งผลให้ตัวเจ้าหน้าที่ทำงานซ้ำซ้อน เพิ่มระยะเวลาในการดำเนินงาน และข้อมูลมีโอกาสตกหล่นสูญหายได้

นายพลภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบันทราบมาว่า นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายพัฒนาสร้างแอปพลิเคชัน สำหรับอาสาสมัครที่อยู่ภายใต้ MOU ระหว่างกรมปศุสัตว์ กรมควบคุมโรค กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อให้ง่ายและสะดวกในการลงพื้นที่ภาคสนาม สำหรับเก็บข้อมูลประชากรสุนัขและแมว ผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE ซึ่งจะทำให้นำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้รวดเร็ว แม่นยำยิ่งขึ้นดังนั้น ทาง กทม.เอง ก็ควรนำแอปพลิเคชั่นนี้มาใช่ในการสำรวจประชากรสัตว์ เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการวางแผนในการดำเนินงานด้านควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีประสิทธิภาพ

กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมควบคุมโรคได้จัดทํา ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ที่ได้กําหนดเป้าหมายของการฉีดวัคซีนที่จะทําให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสุนัขและแมวจะต้องได้รับการฉีดฉีดวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 ของจำนวนสุนัขและแมวในพื้นที่ แต่เนื่องจากในหลายพื้นที่ของประเทศยังพบการเกิดโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ จึงขอความร่วมมือให้ดําเนินการ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว ให้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 80 เพื่อป้องกันโรคในพื้นที่ และเตรียมความพร้อมในการสร้างพื้นที่ปลอดโรค นอกจากนี้ในพื้นที่พบโรคขอให้เร่งดําเนินการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน