เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์  มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เข้าสู่วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่… พ.ศ. … (สมรสเท่าเทียม) วาระที่ 2 และ 3 ที่กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีทั้งหมด 68 มาตรา มีผู้สงวนความเห็น 14 มาตรา รายละเอียดสำคัญมีการปรับแก้โดยเฉพาะเนื้อหาการหมั้นและสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ

โดยเมื่อเริ่มเข้าสู่วาระ นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ได้กล่าวถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับการคุ้มครอง การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เราทำเพื่อคนไทยทุกคน เพราะหลังจากมีการผ่านวาระ 1 เราได้ฟังเสียงรอบด้าน เราพูดคุยถกเถียงกันว่ากฎหมายฉบับนี้ ทำเพื่อคนใดคนหนึ่งหรือไม่ ซึ่งเราพิจารณาด้วยความรอบคอบ และขอยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ ชายหญิงทั่วไปเคยได้รับสิทธิอย่างไร ทุกคนจะไม่เสียสิทธิแม้แต่น้อย สิทธิในทางกฎหมายยังเท่าเดิมทุกประการ และในทางเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเรียกว่าเป็น  LGBTQ ผู้ชายข้ามเพศ ผู้หญิงข้ามเพศ

“ผมเชื่อว่าทุกคนในที่นี้ รวมถึงพี่น้องประชาชนชาวบ้านทราบดี ว่าเราไม่ได้มีเพียงแค่เพศชายเพศหญิงเท่านั้น มีคนกลุ่มหนึ่งที่อาจเลือกเกิดไม่ได้ แต่คนเหล่านี้ เขาเลือกที่จะเป็นตามสิ่งที่เขาต้องการ เพราะฉะนั้น กฎหมายฉบับนี้ เราต้องการที่จะคืนสิทธิให้คนกลุ่มนี้ เราไม่ได้ให้สิทธิเขา” นายดนุพร กล่าว

นายดนุพร กล่าวต่อว่า  สิทธิการรักษาพยาบาล การลดหย่อนภาษีต่างๆ การเสียภาษี รวมถึงการลงนามยินยอมให้เข้าสู่กระบวนการรักษาพยาบาล คนเหล่านี้เขาไม่เคยได้สิทธิแบบนี้ ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เป็นการคืนสิทธิ และทุกพรรคการเมือง ตอนหาเสียงเลือกตั้ง เราเคยบอกว่าจะทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ กฎหมายฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเท่าเทียม

“พวกเราเข้าใจอย่างดีว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ยาที่จะรักษาได้ทุกโรค  แต่อย่างน้อยเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการที่จะสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม วันนี้ฝาก สส. ทุกท่านร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เราจะเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เราจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเราจะภาคภูมิใจในเวทีโลกที่ประเทศไทยวันนี้เห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำในสังคม เห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเพศ” นายดนุพร กล่าว

จากนั้นเป็นการเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายรายมาตรา  โดยภาพรวมที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น พิจารณาเรียงตามรายมาตรา ซึ่งกมธ.ฯ เสียงข้างน้อย ที่มาจากภาคประชาชน ได้เสนอขอให้บัญญัติเพิ่มคำว่า “บุพการีลำดับแรก” (ที่ทำหน้าที่เสมือนมารดา-บิดา) เพื่อให้เกิดคำกลางๆ ลงในร่างกฎหมายแทนบิดา-มารดา รองรับความสมบูรณ์ของครอบครัวให้คู่สมรสเพศเดียวกัน  แต่กรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การกำหนดบุพการีลำดับแรก เป็นคำใหม่ที่ไม่เคยบัญญัติในกฎหมาย และไม่มีการให้คำนิยาม จึงอาจเกิดผลกระทบในการบังคับใช้ได้ จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลที่จะกระทบต่อกฎหมายทั้งหมดของประเทศ ที่ประชุมฯ จึงมีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบตามการปรับแก้ของกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก ทั้งนี้ เมื่อบุคคล 2 คน ไม่ว่าจะเพศเดียวกัน หรือต่างเพศกัน จดทะเบียนสมรสร่วมกันแล้ว ก็จะมีสถานะ “คู่สมรส”

ดังนั้น ก็จะไปเข้าเงื่อนไขในกฎหมายอื่นๆ ที่รองรับสิทธิประโยชน์ของ “คู่สมรส” อาทิ สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญา เช่นเดียวกับสามี-ภรรยา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิการลงนามยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิจัดการศพ, สิทธิได้รับประโยชน์ และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงคู่สมรส ยังสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ พร้อมรับรองถึงกฎหมาย หรือระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรีใด อ้างถึงสามี ภริยา หรือสามีภริยา ให้ถือว่าอ้างตามคู่สมรสที่จดทะเบียนตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ด้วย

จากนั้นที่ประชุมลงมติในวาระ 3 มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 400 เสียง ไม่เห็นชอบ 10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3  ให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของ กมธ.วิสามัญฯ เพื่อส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป.