เมื่อวันที่ 27 มี.ค. พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ.สั่งการ พ.ต.อ.ธีรภาส ยั่งยืน ผกก.3 บก.ปอศ. เปิดปฏิบัติการ “CIB breaks up online scam syndicate สกัดภัยอาชญากรรมออนไลน์ข้ามชาติ” จับกุมบัญชีม้ารับจ้างบริษัทหลอกลงทุนเทรดหุ้นต่างประเทศ ประกอบด้วย หจก.เอสดี แอนด์ เอสดี อินเตอร์เนชั่น มี น.ส.สุรดี โชคทรัพย์อนันท์ อายุ 59 ปี หุ้นส่วนผู้จัดการ , หจก.ซีฟูรีย์ พลัส กรุ๊ป มี นายวีรวัฒน์ เซี่ยงเห็น อายุ 30 ปี หุ้นส่วนผู้จัดการ , หจก.บีแอลวีดีพีเอสแอล โฮลดิ้ง มี น.ส.กันยารัตน์ ตุ้มทอง อายุ 43 ปี หุ้นส่วนผู้จัดการ , หจก.นิค เอส บิวเดอร์ มี นายวิษณุ ศรีประกร อายุ 40 ปี หุ้นส่วนผู้จัดการ , หจก.สมบัติยิ่งเจริญ กรุ๊ป มี น.ส.สุรีย์ ห้องกระจก อายุ 44 ปี หุ้นส่วนผู้จัดการ , หจก.กาสิคาบ โกเบิล มี นายปริทัศน์ สว่างกมล อายุ 44 ปี หุ้นส่วนผู้จัดการ , หจก.กาซิร์คราบ ซัคเซส มี นายณัฐวุฒิ ศรีประกร อายุ 35 ปี เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และ หจก.สกิลริ้ง แคบพิเทิ้ล ซัคเซส มี น.ส.วรลักษณ์ บุญยังทองอินทร์ อายุ 44 ปี เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ตามหมายจับศาลอาญา ข้อหา “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และเปิดหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีเงินฝากของตน โดยนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดอาญาอื่นใด”

สืบเนื่องจากมีกลุ่มผู้เสียหายแจ้งความพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอศ. ว่าถูกกลุ่มคนร้ายชักชวนลงทุนหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศผ่านเพจเฟซบุ๊กโดยแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการหุ้น เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ก่อนชักชวนเข้าร่วมกลุ่มไลน์ VIP แนะนำการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ซึ่งมีความแม่นยำและน่าเชื่อถือสูง อีกทั้งยังมีข้อมูลลับที่ใช้ในการลงทุน โดยให้ลงทุนผ่านแอปพลิเคชัน Nicshare (ซึ่งเป็นแอปปลอม) โดยช่วงแรกสามารถทำกำไรได้จริงและสามารถถอนเงินได้เพื่อให้ผู้เสียหายตายใจโอนเงินลงทุนเพิ่มอีกหลายครั้ง สุดท้ายก็ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้

นอกจากนี้กลุ่มคนร้ายยังอ้างว่าถ้าจะถอนเงินจะต้องวางเงินประกันการลงทุนเพิ่ม ต้องเสียภาษี ค่าธรรมเนียม และ ค่าประกัน ถึงจะถอนเงินได้ เมื่อผู้เสียหายทำตามที่คนร้ายบอก แต่ก็ยังไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ จึงตรวจสอบยังพบว่า แอปพลิเคชันดังกล่าว ไม่ได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่อย่างใด เบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียหายกว่า 50 ราย รวมมูลค่าความเสียหายเป็นเงินจำนวนกว่า 800 ล้านบาท ต่อมาเจ้าหน้าที่ ได้สืบสวนจนนำไปสู่นำไปสู่ปฏิบัติการจับกุมกลุ่มผู้ต้องหาทั้งคนไทยและชาวต่างชาติจำนวนหลายรายเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา กระทั่งขยายผลไปยังกลุ่มบุคคลที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อรับโอนเงินจากกลุ่มผู้เสียหายแล้วผ่องถ่ายโอนไปยังกลุ่มผู้รับผลประโยชน์ จำนวน 8 ราย

สอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมด ให้การรับสารภาพว่า ได้รับการว่าจ้างให้จดจัดตั้งนิติบุคคลและเปิดบัญชีธนาคารในนามนิติบุคคล เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ ในการใช้หลอกลงทุน และหลบเลี่ยงการตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินของภาครัฐ จึงนำส่งพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป.