เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 ก.พ. ที่รัฐสภา นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย (สร.) และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 66 เห็นจุดที่มีปัญหาต้องตรวจสอบอะไรหรือไม่ ว่า พล.อ.ประวิตร ได้ไปตรวจราชการเกี่ยวกับเรื่องน้ำที่ จ.ราชบุรี ในช่วงเช้า และในช่วงบ่ายมีการขึ้นเวที เวลา 14.51 น. ของวันที่ 1 ก.พ. และใช้เวทีดังกล่าวในการแนะนำผู้สมัคร ขอให้ประชาชนเลือกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งประเด็นคือ เวลาดังกล่าวเป็นเวลาราชการ การที่จะไปหาเสียงในเวลาราชการอาจจะไม่เหมาะสม แม้จะมีการลากิจหรือลาป่วยก็ตาม ตนคิดว่าน่าจะเป็นปัญหา เพราะช่วงเช้าที่ พล.อ.ประวิตร ไป มีการใช้รถยนต์ ใช้ทรัพยากรของรัฐในการเดินทางไปราชการที่ราชบุรี และช่วงบ่าย พล.อ.ประวิตร ก็หาเสียงบนเวที ตนถือว่าน่าจะเข้าข่ายการใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ในการเอื้อประโยชน์หาเสียงทางการเมืองให้พรรคการเมือง และผู้สมัครบางคน

นายสมชัย กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องขอดูรายละเอียดคือ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ มีคลิปเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นหลักฐานได้เพียงพอหรือไม่ ถ้าในกรณีที่เป็นจริง ตนคิดว่า กกต. ควรต้องดำเนินการในเรื่องนี้ ในฐานะที่ พล.อ.ประวิตร เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กกต. จะต้องทำหนังสือตักเตือนไปว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ขอให้ยุติการกระทำ แต่ในอนาคตจะต้องไม่มีสิ่งนี้เกิดขึ้น และในขณะเดียวกัน กกต. จะต้องทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อบอกว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน ทำผิดระเบียบการหาเสียง คือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้ทรัพยากรของรัฐในการเอื้อประโยชน์การหาเสียง ขอสั่งให้มีการสอบสวนทางวินัยหรือสั่งให้พ้นจากตำแหน่งหน้าที่เป็นการชั่วคราว จนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้น

“ต้องดูว่าหลักฐานต่างๆ ผูกแน่นเพียงใด ในกรณีมีหลักฐานชัดเจนว่ากระทำสิ่งนี้ แล้ว กกต. ไม่ดำเนินการใดๆ ผมจะถือว่า กกต. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และจะใช้ช่วงเวลานี้เก็บหลักฐานต่อไป หากชัดเจนผมจะเป็นผู้ยื่นถึง กกต. เอง”

เมื่อถามย้ำว่า เมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ลางานครึ่งวัน ถือว่าไม่ได้ใช้เวลาราชการ นายสมชัย กล่าวว่า การลาก็ผิด ถามว่าลาอะไร ถ้าลาป่วยก็โกหก ถือว่าเป็นการลาโดยแจ้งเหตุที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากป่วยต้องอยู่บ้าน ถ้าลากิจต้องมีการลาก่อนล่วงหน้า และการใช้ทรัพยากรของรัฐในช่วงเช้า ที่เดินทางไปราชบุรีถือว่าใช้ของหลวง แฝงไปเพื่อประโยชน์การเลือกตั้ง ส่วนว่าหากมีการยุบสภา ความผิดที่ส่อว่าจะผิดถือว่าหายไปด้วยหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ กกต. ต้องวินิจฉัย เพราะในตัว พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นอกเหนือจากเรื่องจะให้เริ่มนับค่าใช้จ่ายอย่างไร เช่น การยุบสภาก็เริ่มนับค่าใช้จ่ายตั้งแต่ยุบสภา มาเริ่มต้นกันใหม่ แต่เรื่องการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก่อนการยุบสภา ยังเป็นเรื่องที่ กกต. ต้องดูแล ถ้า กกต. บอกว่าทุกอย่างสิ้นสุดลง ตนจะยกข้อกฎหมายและร้องว่า กกต. ทำผิดกฎหมาย ยืนยันว่าหากในกรณีดังกล่าวมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นในช่วงเวลา 180 วัน กกต. ต้องดำเนินการต่อ