กรณีศึกษาที่เผยแพร่ในงานประชุมทางวิชาการประจำปีของสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า ถ้าเรานอนหลับน้อยกว่าคืนละ 7 ชม. เราจะมีอัตราเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นอีก 7% จากอัตราปกติ และถ้าหากนอนน้อยกว่าคืนละ 5 ชม. เป็นบางครั้ง อัตราเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นอีก 11%

คาเวห์ โฮสเซนิ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านหทัยวิทยา (โรคหัวใจ) จากศูนย์โรคหัวใจแห่งเตหะราน ประเทศอิหร่าน ร่วมอภิปรายถึงการค้นพบจากกรณีศึกษาล่าสุดนี้ว่า ผู้หญิงจะมีอัตราเสี่ยงดังกล่าวมากกว่าผู้ชายถึง 7% ซึ่งเป็นตัวเลขที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญและควรจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ผช. ศจ. โฮสเซนิ กล่าวว่า จากกรณีศึกษานี้พบว่า หากไม่มีการนอนหลับพักผ่อนที่มีคุณภาพ เราก็อาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นที่จะป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหัวใจและภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

ทีมศึกษาวิจัยในกรณีนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนจาก 6 ประเทศ ซึ่งไม่ได้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงในตอนเริ่มโครงการ

ผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 1,044,035 คนเหล่านี้จะถูกติดตามเก็บข้อมูลด้านต่าง ๆ โดยเฉลี่ยคนละ 5 ปี โดยมีการปรับเพื่อให้เข้ากับสภาวะการเสี่ยงต่อโรคหัวใจ, เพศ, การศึกษา, ลักษณะนิสัยการสูบบุหรี่และน้ำหนักตัว ซึ่งทำให้พบว่าการนอนไม่พอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง

อย่างไรก็ตาม  ผช. ศจ. โฮสเซนิ ย้ำว่ายังคงต้องทำวิจัยเพิ่มเติมอีก เพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างคุณภาพการนอนและสภาวะสุขภาพที่เสื่อมลงที่แสดงออกด้วยการป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง

นอกจากนี้ เขายังแนะนำว่า ทางที่ดีที่สุดในการลดอัตราเสี่ยงโรคเรื้อรังนี้ก็คือนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอคืนละ 7-8 ชั่วโมง

ที่มา : ladbible.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES