เมื่อวันที่ 2 เม.ย.นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมและบรรยายพิเศษ “การขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมการพัฒนาสมรรถนะความฉลาดรู้ของผู้เรียน ตามแนวทางการประเมิน PISA” ผ่านระบบ Google Meet เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบ PISA ให้กับนักเรียนในสังกัดของ สพม.นนทบุรี สพป.นนทบุรี เขต 1 สพป.นนทบุรี เขต 2 และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักให้กับ ผู้บริหาร ครู ศึกษานิเทศก์ และผู้เกี่ยวข้อง ในการยกระดับการสอบและการเข้าถึงโปรแกรม PISA โดยมี ผอ.สพม.นนทบุรี ผอ.สพป.นนทบุรี เขต 1 ผอ.สพป.นนทบุรี เขต 2 ศึกษานิเทศก์ คณะครูโรงเรียนพี่เลี้ยง โรงเรียนศูนย์โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ เครือข่ายภาคกลางตอนล่าง (จังหวัดนนทบุรี) ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ นนทบุรี และข้าราชการครูโรงเรียนสังกัด สพม. จำนวน 18 โรง สังกัด สพป.นนทบุรี เขต 1 จำนวน 8 แห่ง และ สพป.นนทบุรี เขต 2 จำนวน 16 แห่ง รวม 200 คน เข้าร่วมการประชุม
.
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวในการบรรยายว่า การพัฒนาคุณภาพนักเรียนตามหลักสูตรแกนกลางฯ และการบริหารจัดการหลักสูตร ครูผู้สอนต้องบูรณาการการเรียนการสอนร่วมกัน จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กสามารถอ่านเรื่องยาวแบบคิดวิเคราะห์ จับประเด็น เชื่อมโยงเป็นระบบ พร้อมสื่อสารถ่ายทอดออกมาได้แบบรู้เรื่อง ตามแนวทางข้อสอบ PISA โดยขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนระดับกระทรวงศึกษาธิการ ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม Timeline ที่กำหนดไว้ โดยให้ครูนำเครื่องมือสู่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียน นักเรียนกลุ่มเป้าหมายต้องเข้าถึงข้อสอบ PISA Paper-Based หรือ Computer-Based แบบ Offline ทุกคน ส่วนการขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนระยะยาว จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2567 ได้แก่ 1.ระดับปฐมวัย ส่งเสริมการใช้หนังสือนิทานเพื่อพัฒนาการคิด การเล่น ใช้สถานการณ์ในการคิดแก้ปัญหา ใช้กิจกรรมเสริมสร้าง Active Learning ตามแนวคิด มอนเตสเซอรี่, โฮสโคป, EF และกิจกรรมบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยปฐมวัย 2. ระดับประถมศึกษา จัดกิจกรรมโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์ (ป.1 – ป.3) จัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์พลังสิบ (ป.4 – ป.6) และแบบฝึกเสริมความสามารถด้านการอ่าน 3. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จัดการเรียนรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์พลังสิบ แบบฝึกสมรรถนะความฉลาดรู้ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และระบบการทดสอบทำข้อสอบ PISA ในทุกรูปแบบ และ 4. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์พลังสิบ ระบบการทดลองทำข้อสอบ PISA เพื่อสร้างความคุ้นชินในการทำข้อสอบสำหรับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายเพื่อฝึกให้เกิดทักษะ และเกิดการคิดแบบอัตโนมัติ
.
ทั้งนี้ ขอฝากเรื่องของการนำนักเรียนในสังกัดเข้าใช้ระบบ PISA Style Online Testing ให้ครบถ้วน 100% โดยมีการเตรียมให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายจนพร้อม มีทักษะในการใช้ Computer-Base มีการเตรียมพร้อมนำเด็กเข้าระบบทดสอบ PISA Style Online Testing และวิเคราะห์ผลการทดสอบเพื่อนำเป็นแนวทางการพัฒนานักเรียนแต่ละคนว่าควรได้รับการพัฒนาอย่างไรบ้าง และส่งเสริมการพัฒนาให้เต็มศักยภาพ เพื่อที่จะได้พร้อมรับการสุ่มสำหรับการเข้าสอบ พร้อมทั้งดำเนินการสร้างการรับรู้ ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนรับทราบและขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงสร้างความตระหนักในการเป็นตัวแทนของประเทศ 1 ในกลุ่มตัวอย่างของนักเรียน 8,000 กว่าคน ที่จะเป็นผู้เข้าพิชิตข้อสอบ PISA 2025 และเป็นตัวแทนยกระดับมาตรฐานการศึกษาสู่สากล
.
“ขอชื่นชม สพท. ในวันนี้ที่เป็นเขตพี่และเขตน้องที่ดูแลกันอย่างเข้มแข็ง ตัวอย่างเช่น การจัดทำข้อมูลครูแกนนำทั้ง 3 โดเมน คือ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ นำสู่การปฏิบัติโดยมีโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการนนทบุรีเป็นโรงเรียนพี่เลี้ยง จับมือกันพัฒนายกระดับคุณภาพการศึกษาไปด้วยกัน แสดงถึงการขับเคลื่อนตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เป็นอย่างดี ด้วยแนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” โดย สพท. ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี มีความโดดเด่นที่น่าชื่นชมคือ “ทำดี ทำได้ ทำทันที” ซึ่งเป็นสิ่งที่เลขาธิการ กพฐ. ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องรายงานข้อมูลการขับเคลื่อนการดำเนินการ PISA ของ สพท. ให้ที่ประชุมผู้บริหาร สพฐ. รับทราบ และนำไปสู่การรายงานของคณะกรรมการประสานภารกิจที่มี รมว.ศธ. เป็นประธาน สิ่งที่ทุกคนดำเนินการในวันนี้ จึงเป็นผลของการขับเคลื่อนนโยบายลงสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง และส่งผลให้นักเรียนและครู “เรียนดี มีความสุข” อย่างถ้วนหน้า” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว