จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่แก้ได้ยากยิ่งนี้ เริ่มจากการที่ต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ในการครอบครองดินแดนเดียวกัน และต้องบอกว่าด้วยความที่แผ่นดินดังกล่าวอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ใกล้กับ 3 ทวีป คือเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ส่งผลให้ได้รับผลกระทบจากการยึดอำนาจของจักรวรรดิต่างๆ หลายเชื้อชาติหลายศาสนา ทั้งเปอร์เซีย กรีก และโรมัน ส่งผลให้เยรูซาเลม กลายเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของคน 3 ศาสนา ทั้งยูดาห์, คริสต์ และอิสลาม

จุดเริ่มเริ่มต้น
ย้อนกลับไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ดินแดนแถบนี้รวมไปถึงปาเลสไตน์ ถูกปกครองโดยจักรวรรดิออตโตมัน โดยมีชาวอาหรับตั้งรกรากอยู่ก่อนแล้ว (ขณะที่เราคงเคยได้ยินที่ชาวอิสราเอลบางส่วนอ้างพระคัมภีร์ว่านี่คือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้ามอบให้ชาวยิว) จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติ จักรวรรดิออตโตมันเริ่มเสื่อมสลาย และประเทศอังกฤษเป็นผู้ได้รับชัยชนะ อังกฤษจึงออก “คำประกาศบัลโฟร์” ยกดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมันและมีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ ยกให้เป็นรัฐสำหรับชาวยิว ซึ่งในขณะนั้น พื้นที่ดังกล่าวมีชาวอาหรับถึง 90% และชาวยิวเพียง 10% เท่านั้น ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์ไม่พอใจในทันที ส่วนชาวยิวก็อพยพกลับเข้ามาอาศัยที่นี่มากขึ้นเรื่อยๆ

ขอบคุณภาพจาก สถานีวิทยุจุฬาฯ CU RADIO

ปี 1947 เพื่อยุติความขัดแย้ง อังกฤษจึงเสนอ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) โดยมีคำตัดสินออกมาคือ แบ่งรัฐชาวยิว แบ่งรัฐชาวอาหรับ และให้พื้นที่เยรูซาเลม เป็นเมืองนานาชาติ ซึ่งในประเด็นนี้ ชาวปาเลสไตน์ก็มองว่าเป็นการฉกฉวยดินแดนและทำไมยิวได้ยึดครองพื้นที่เยอะกว่า ซึ่งในปีถัดมาก็คือปี 1948 ทางอังกฤษได้ถอนทหารออกไป ชาวยิวจึงประกาศเอกราช “ตั้งรัฐอิสราเอล” พร้อมผลักดันชาวปาเลสไตน์ออกไป จนเกิดสงครามกันขึ้นอีก

สงครามครั้งสำคัญ
หากนับจากวันที่มีการประกาศตั้งรัฐอิสราเอลแล้ว ทำให้ชาวปาเลสไตน์ จับมือกับชาติอาหรับได้แก่ ได้แก่ อียิปต์ เลบานอน ซีเรีย จอร์แดน และอิรัก หรือเรียกง่ายๆ ว่า อิสราเอล ปะทะ ปาเลสไตน์+ชาติอาหรับ จนมาถึงสงครามครั้งสำคัญในปี 1967 อิสราเอลบุกยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ส่วนที่เหลือในเขตเวสต์แบงก์ เยรูซาเลมตะวันออก ฉนวนกาซา ที่ราบสูงโกลันของซีเรีย และคาบสมุทรซีนายของอียิปต์ได้เป็นผลสำเร็จ ภายในระยะเวลาเพียง 6 วัน พร้อมผลักให้ชาวปาเลสไตน์ไปอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ที่เรียกว่า “ฉนวนกาซา” จนมีการเรียกสงครามครั้งนี้ว่า “สงคราม 6 วัน”

ขอบคุณภาพจาก AFP

วันที่เกือบจะสันติภาพ
เมื่อทำสงครามเต็มรูปแบบแล้วเอาชนะไม่ได้ จึงกลายมาเป็นจุดกำเนิดของ องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องดินแดนแต่เดิมของตนคืน แต่เปลี่ยนวิธีมาใช้การสู้รบแบบกองโจรแทน แต่ก็ต้องเปลี่ยนท่าทีมาทำ “ข้อตกลงออสโล โดย “ยิตส์ฮัก ราบิน” นายกรัฐมนตรีอิสราเอล, “บิล คลินตัน” ประธานาธิบดีสหรัฐ และ “ยัสเซอร์ อาราฟัต” ประธาน PLO ส่งผลให้ ราบิน, อาราฟัต และ ชิมอน เปเรส รัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอล (ในขณะนั้น) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกัน

แต่เมื่อกลับถึงอิสราเอล กลับปรากฏว่า “ยิตส์ฮัก ราบิน” ถูกลอบสังหารโดยนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าว ส่วนทางด้าน “ยัสเซอร์ อาราฟัต” ก็ถูกกักตัวไว้ในบ้านพักจนป่วย เพียงแค่ 2 ปีถัดมาก็เสียชีวิตลง และความขัดแย้งยังยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ก่อกำเนิด “กลุ่มฮามาส”
เมื่อ “ข้อตกลงออสโล” ไม่ได้ผล อีกทั้งรบก็ไม่มีวันชนะ อีกทั้งยังความขัดแย้งยังถูกซ้ำเติม เมื่อรถของกองทัพอิสราเอลไปชนเข้ากับรถขนคนงาน จนชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 4 ราย ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์ลุกฮือขึ้นสู้ ออกมาเดินขบวนประท้วงในฉนวนกาซาและทำร้ายเจ้าหน้าที่ของอิสราเอล ส่วนทางอิสราเอลก็ใช้อาวุธหนักเข้าสู้กับผู้ประท้วง จนนำไปสู่ความสูญเสียครั้งใหญ่ มีชาวอิสราเอลเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 277 ราย และชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตถึง 1,962 ราย โดยเหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า Intifada ครั้งที่ 1

และจาก “ข้อตกลงออสโล” มาสู่เหตุการณ์ดังกล่าว ชาวปาเลสไตน์กลุ่มหนึ่งมองว่า PLO มีท่าทีประนีประนอมเกินไป และไม่ได้ยึดถือกับกฎระเบียบของศาสนาอิสลาม จึงได้มีการก่อตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมาอีกกลุ่มในชื่อ “กลุ่มฮามาส” ที่จะใช้วิธีสู้รบด้วยท่าทีที่แข็งกร้าว จุดมุ่งหมายคือการทำลายล้างอิสราเอลให้สิ้นซาก และไม่มีการอ่อนข้อลงเหมือนอย่าง PLO แต่อย่างใด จนพวกเขากลายเป็นกลุ่มการเมืองอีกขั้วของปาเลสไตน์ ที่มีบทบาทสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์สำคัญต่อมาคือการเกิด Intifada ครั้งที่ 2 ในช่วงปี 2000-2005 จากการที่ผู้นำฝ่ายค้านของอิสราเอล พร้อมด้วยกำลังทหารและตำรวจ เดินเข้าไปเยี่ยมชมภายใน “มัสยิดอัลอักซอแห่งนครเยรูซาเลม” ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ลำดับที่ 3 ของศาสนาอิสลาม รองจากนครเมกกะและนครมาดีนะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และการกระทำในครั้งนี้ สร้างความไม่พอใจให้ชาวปาเลสไตน์อย่างมาก พวกเขามองว่าเป็นการจงใจยั่วยุและดูหมิ่นทางศาสนา จึงเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันขึ้น และกลายเป็นความรุนแรงที่ลากยาวต่อมาเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี

ความรุนแรงที่ไม่มีทีท่าจะยุติ
สำหรับชนวนเหตุของความขัดแย้งในครั้งล่าสุดนี้ มาจากการที่อิสราเอลปิดจุดผ่านแดนในฉนวนกาซานาน 2 สัปดาห์ เมื่อเดือน ก.ย. 2023 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดการจลาจลของชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ จนกระทั่งอิสราเอลยินยอมเปิดจุดผ่านแดนอีกครั้ง เมื่อวันที่ 28 ก.ย. และการที่ตำรวจอิสราเอลตรวจค้น มัสยิดอัล-อักซอ และเขตที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง

โดยตำรวจอิสราเอลใช้กระสุนยางและระเบิดแสงเข้าจู่โจมระหว่างที่ชาวปาเลสไตน์กำลังประกอบพิธีทางศาสนาในมัสยิด ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ใช้หินและขวดขว้างใส่เจ้าหน้าที่เป็นการตอบโต้ หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ฝั่งอิสราเอลอ้างว่า พวกเขาจำเป็นต้องใช้กำลังเพื่อควบคุมความเป็นระเบียบเรียบร้อยจากการที่ชาวปาเลสไตน์ขว้างหินใส่ตำรวจและชาวอิสราเอลที่มาประกอบพิธีทางศาสนาอยู่ในบริเวณใกล้เคียง

ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เอง เป็นเหตุให้ผู้นำชาติมุสลิมหลายประเทศออกมาประณามอิสราเอล โดยมองว่าการบุกมัสยิดอัลอักซออันศักดิ์สิทธิ์ เปรียบเสมือนการโจมตีศาสนาอิสลาม อีกทั้ง กลุ่มติดอาวุธฮามาส ย่อมไม่อยู่เฉย จนต้องเปิดปฏิบัติการ อัล-อักซา ด้วยการยิงจรวด 5,000 ลูก ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ เริ่มเมื่อวันเสาร์ (7 ต.ค.) เวลาประมาณ 06.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น (10.30 น. ตามเวลาไทย) ซึ่งเป็นวันหยุดหลังจากฉลองเทศกาลอยู่เพิงตามความเชื่อของศาสนายูดาห์

ขอบคุณภาพจาก AFP

แน่นอนว่าทางฝั่งอิสราเอล มีระบบป้องกันที่เรียกว่า ไอเอิร์นโดม (Iron Dome) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม ยิงสกัดไว้ได้ถึง 90% แต่เมื่อถูกระดมยิงขนาดนี้ ก็มีการตอบโต้โดยการยิงจรวดโจมตีฉนวนกาซาถึง 600 เป้าหมาย และยังคงยืดเยื้อมาถึงปัจจบัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1,100 ราย

ความขัดแย้งของสองชนชาตินี้ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง หนทางการเจรจาอย่างสันติก็ยังคงดูห่างไกล อีกทั้งการสู้รบก็ดูจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ..จนกว่าจะถึงวันที่ “สงครามของอิสราเอลกับปาเลสไตน์” จบลง จำนวนผู้เสียชีวิตคงจะไม่หยุดอยู่แค่เพียงหลักพันอย่างแน่นอน..