เมื่อวันที่ 20 เม.ย. นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อน สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือโรคท้องร่วง ซึ่งเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อแอคทีเรีย เช่น อีโคไลน์ ซาโมไนลา ฯลฯ หรือเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เชื้อโรตา ซึ่งมักพบการติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ส่วนเด็กโตก็สามารถติดเชื้อนี้ได้ แต่อาการอาจจะไม่มาก ทั้งนี้ ปัจจุบัน เรามีการให้วัคซีนชนิดหยอดป้องกันการติดเชื้อไวรัสโรตาในเด็กอายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน

สำหรับกรณีรายงานข่าววล่าสุดว่า มีผู้ป่วยโรคท้องร่วงเป็นกลุ่มก้อน กว่า 50 คน หลังเล่นปาร์ตี้โฟมในกิจกรรมสงกรานต์ที่จังหวัดสุพรรณบุรี สันนิษฐานว่า เป็นการติดเชื้อไวรัสโรตานั้น ที่อาจจะปนมากับอาหารและน้ำดื่ม ทำให้เกิดท้องร่วงเฉียบพลันได้ โดยหากมีอาการไม่มาก อาจจะคลื่นไส้ อาเจียนเล็กน้อย สามารถดูแลที่บ้านได้ โดยการให้ดื่มน้ำผสมเกลือแร่มากๆ และดูอาการ แต่หากอาการรุนแรงมากขึ้น สัญญาณเตือนภัย คือมีไข้ อาเจียนมากไม่หยุด ถ่ายหนัก ไม่หยุด ต้องรีบพบแพทย์ ยิ่งหากพบว่า เด็กมีอาการซึมลง ไม่มีแรง มือเท้าเย็น ถือว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดีก็ต้องรีบพบแพทย์ อีกอาการหนึ่งคือ การสูญเสียน้ำมากจากการอาเจียน หรือขับถ่ายบ่อย จะส่งผลทำให้ปัสสาวะออกน้อย หากเด็กมีปัสสาวะน้อย สีเข้มจัด หรือไม่ปัสสาวะเลยในช่วง 6 ชั่วโมง แปลว่า มีการสูญเสียน้ำมากเกินไป ต้องรีบพบแพทย์

นพ.เอกชัย กล่าวว่า ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันต้องมีการดูแลสุขอนามัยตั้งแต่แรก คือ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ คือกินอาหารปรุงสุก สะอาด เลี่ยงอาหารสุกๆ ดิบๆ  ล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหารให้สะอาด ล้างมือให้สะอาดหลังใช้ห้องน้ำ ผู้ปกครองหลีกเลี่ยงพาเด็กไปที่แออัด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีรายงานพบการระบาดของโรค ซึ่งเชื้อก่อโรคนั้น หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ผสมมากับน้ำ มีความชื้นพอ เชื้อจะอยู่ได้นานพอสมควร เช่นเดียวกับปาร์ตี้โฟม ก็จะขึ้นอยู่กับว่า น้ำที่นำมาใช้นั้นสะอาดหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องเตือนกัน หากใช้น้ำที่ไม่ได้ผ่านระบบสุขอนามัย ซึ่งตามข่าวดังกล่าวทราบว่า มีกลิ่นด้วย ในส่วนนี้นอกจากการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคท้องร่วงแล้ว อาจจะทำให้เกิดการอาการแพ้ ผื่นขึ้นได้ด้วย และระวังน้ำเข้าตา ปาก จมูก ซึ่งจะเป็นช่องทางนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นหลังไปเล่นน้ำ หรือปาร์ตี้โฟมที่ไหน ให้รับอาบน้ำ สระผม ให้สะอาด ล้างมือให้ทั่ว เช็ดตัวให้สะอาด ซักผ้าให้สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อโรค กรณีที่อาจจะยังไม่สามารถล้างมือ ล้างตัวได้ ก็สามารถใช้แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือได้

“ย้ำอีกครั้งว่า ช่วงหน้าร้อน ต้องระวังเรื่องอาหาร น้ำดื่ม ให้มาก อาหารที่ซื้อมาในช่วงหน้าร้อน ไม่ควรวางในอุณหภูมิห้องนานเกินไป ควรเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อป้องกันการเติมโตของแบคทีเรีย ทำความสะอาดบริเวณที่ปรุงอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ล้างมือให้สะอาดขณะปรุงอาหาร ช่วงหน้าร้อน ต้องดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ป้องกันโรคลมแดดด้วย” นพ.เอกชัย กล่าวและว่า ฝากเตือนกรณีติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด อาจจะไม่ได้อุจจาระร่วง แต่ก่อให้เกิดอาการอุจจาระเป็นมูก เป็นเลือด ครั้งละน้อยๆ ทำให้ปวดท้องเกร็ง ถ้ามีอาการ ต้องไปพบแพทย์ เพื่อสั่งจ่ายยาที่ตรงกับการรักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรีย.