ไม่ว่าจะเป็นมลพิษหลากหลายทาง ปัญหาปริมาณฝุ่นละอองและหมอกควัน ปัญหาสารเคมีจากสถานประกอบการรั่วไหลไปปนเปื้อนดิน น้ำ อากาศ แถมยังเกิดเหตุเพลิงไหม้โกดังเก็บสารเคมี สร้างความเสียหายมหาศาล

ยิ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีสถานการณ์ปัญหาสารเคมีในโรงงานเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งเหตุ ไฟไหม้โกดังที่ลักลอบเก็บสารเคมีประมาณ 4,000 ตัน ใน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่  29 ก.พ. 2567 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา สารเคมีของกลางเกิด ก๊าซรั่วไหลเป็นไอควันสีส้มเหลืองลอยสู่อากาศ ส่งกลิ่นเหม็นฉุน

อีกทั้งมีกรณีที่ชาวบ้านใน จ.สมุทรสาคร ร้องเรียนต่ออุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครเมื่อ เดือน มี.ค. 2567 ว่ามี ผู้ลักลอบขนย้ายสารเคมีแคดเมียม ราว 15,000 ตัน จากหลุมฝังกลบของบริษัทชื่อดังใน จ.ตาก มาเก็บไว้ที่โรงงานใน จ.สมุทรสาคร และถูกตรวจพบอีกในหลายจังหวัด แถมเกิด เหตุก๊าซแอมโมเนียจากโรงน้ำแข็งใน จ.ชลบุรี ฟุ้งกระจาย เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ทำให้ผู้คนบริเวณนั้นแสบจมูก แสบตา บางรายถึงขั้นหมดสติ

ล่าสุด โกดังเก็บสารเคมีของบริษัท วินโพรเสส จำกัด ใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เกิดเหตุไฟไหม้เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ซึ่งหลายๆ ฝ่ายแม้แต่หน่วยงานรัฐที่ติดตามและตรวจสอบต่างสงสัยว่า หรือนี่อาจไม่ใช่อุบัติเหตุ อย่างเช่น “ชุติพงศ์ พิภพภิญโญ” สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ระบุว่า เมื่อปี 2566 โรงงานนี้เคยเกิดน้ำท่วม น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีไหลสู่บ้านประชาชน แต่อุตสาหกรรมจังหวัดระยองมีคำสั่งเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2567 ให้ขนย้ายสารเคมีออกไปกำจัดให้ถูกต้อง แต่ก็เกิดเหตุไฟไหม้ในวันที่ 22 เม.ย.

เช่นเดียวกับ “อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์” สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร มองว่า ไฟไหม้โกดังสารเคมีเกิดขึ้นซ้ำซาก เพราะการกำจัดกากอุตสาหกรรมต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงมีการเผาทำลายหลักฐาน และทำตามๆ กัน ไม่คิดถึงผลกระทบที่ตามมา ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมและตำรวจต้องสอบสวนจริงจัง ต้องดำเนินคดีเด็ดขาด ที่สำคัญ กระทรวงอุตสาหกรรมต้องสังคายนาระบบการจัดเก็บกากอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้เกิดเป็นแฟชั่นเผาทำลายหลักฐาน

ถือเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลของ “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” พร้อมบรรดาหัวเรือใหญ่ในหน่วยงานต่างๆ ทั้ง “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” รมว.อุตสาหกรรม ควรสนับสนุนข้อเรียกร้องของภาคประชาชน คือ พ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือกฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register)

เพื่อเป็นกฎเหล็กกำกับให้โรงงานต้องเผยแพร่ข้อมูลชนิดและปริมาณการครอบครองสารเคมี การปล่อยสารพิษ และการเคลื่อนย้าย ให้สาธารณะเข้าถึงและนำมาใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งจะช่วยสร้างสังคมที่โปร่งใส

เพราะชีวิตของประชาชนมีค่ามหาศาลไม่น้อยกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ.

พิราบ บานเย็น