เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่รัฐสภา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สว.ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้มีการประชุมไปแล้ว 3 นัด ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ค. แน่นอน เพราะที่ประชุมมีการพิจารณาถ้อยคำในประเด็นหลักๆ เช่น สามี ภรรยา ชายหรือหญิง คู่สมรสหรือคู่ชีวิต จะเอาหรือไม่เอา รวมทั้งเรื่องการหมั้น การแต่งงาน เป็นต้น ซึ่งจะเหลือการประชุมอีก 10 ครั้ง แต่คิดว่าพิจารณาเพียง 5-6 ครั้งก็จะจบ โดยในต้นเดือน พ.ค. จะเชิญผู้แปรญัตติ 3 คน มาชี้แจง จากนั้นจะเป็นการพิจารณารายมาตรา ที่ขณะนี้มีการพิจารณาไปแล้ว 14 มาตรา จาก 68 มาตรา ดังนั้นขอยืนยันว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ค. เพื่อให้เข้าสู่วาระประชุมสภาสมัยวิสามัญ ที่จะมีการเปิดประชุมเพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 68 ในต้นเดือน มิ.ย.

นายวัลลภ กล่าวต่อว่า นอกจากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจะเข้าสู่ที่ประชุมแล้ว ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น และการให้ความเห็นชอบบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบประวัติฯ ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน สว. เป็นประธาน ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ สว.จะต้องทำทุกอย่างให้เสร็จเรียบร้อย ก่อนที่จะพ้นจากวาระในวันที่ 10 พ.ค.

เมื่อถามว่า ในชั้น กมธ.ที่พิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียมมีทิศทางเป็นอย่างไร นายวัลลภ กล่าวว่า ต้องชมว่าร่างที่มาจากภาคประชาชน เป็นร่างที่สนใจมาก เป็นการเทียบเคียงกับร่างเดิม คือกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เก่า และเอาบริบทความเข้าใจของสังคมไทยมาใส่ไว้ด้วย รวมทั้งเอาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาผสมผสาน รวมถึงมุมมองความคิดว่าโลกนี้เป็นโลกที่ไร้เพศ ที่ทุกเพศสามารถอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยแท้ และเมื่อร่างของร่างประชาชนเป็นเช่นนี้ ร่างของรัฐบาลก็รับร่างของประชาชนมาแล้ว 80% เมื่อมาถึงวุฒิสภาก็อาจมีบางประเด็นที่ข้องใจอยู่ เช่น ประเด็นที่ติดค้าง ทั้งเรื่องการหมั้น การแต่ง เรื่องคำว่าชายหญิงควรมีหรือไม่ การรอไว้ 120 วันช้าไปหรือไม่ สามารถบังคับใช้ทันทีได้หรือไม่ เราได้มีการพูดคุยกันหมดแล้ว และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาอะไรเป็นที่หนักใจเลย

นายวัลลภ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับศาสนานั้น ทาง กมธ.ได้พูดคุยกันแล้ว ซึ่งหลักของกฎหมายที่เกี่ยวกับศาสนามีข้อเกี่ยวพันกับกฎหมายหลายฉบับ ที่ผ่านมาก็ปฏิบัติกันได้ เพราะได้รับข้อยกเว้นในหลักศาสนานั้นอยู่แล้ว เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาก็ใช้หลักศาสนาเขาอยู่แล้ว นอกจากนี้ทางกระทรวงมหาดไทยก็ชี้แจงหากมีการอบรมเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าใจได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่คือการปฏิบัติหน้าที่ หลักศาสนาคือหลักศานา ไม่มีการบังคับกัน และมีข้อยกเว้นว่าถ้าเจ้าหน้าที่เป็นมุสลิม ไม่อยากจัดการสมรสหรือขึ้นทะเบียนให้กับบุคคลที่ต้องการจดทะเบียน เราก็สามารถที่จะเว้นการดำเนินการได้ โดยให้คนที่เป็นพุทธมาดำเนินการแทนได้ โดยประเด็นเหล่านี้ไม่มีปัญหา ดังนั้น ขอให้สบายใจได้ว่า พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมได้ใช้แน่นอน.