สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศ ‘เจมส์ เวบบ์’ ได้บันทึกภาพอินฟราเรดที่ละเอียดที่สุดของเนบิวลาหัวม้า หนึ่งในวัตถุที่สง่างามและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในท้องฟ้ายามค่ำคืน

ผลการสำรวจครั้งใหม่เผยให้เห็นถึงส่วนบนของแผงคอม้า ซึ่งเป็นโครงสร้างขนาดเล็กที่อยู่บนขอบฝุ่นเมฆและก๊าซของเนบิวลาขนาดยักษ์เป็นครั้งแรก

เนบิวลาหัวม้าเคลื่อนตัวอยู่ห่างจากกลุ่มดาวนายพราน (เดอะฮันเตอร์) ประมาณ 1,300 ปีแสง เป็นวัตถุอันโดดเด่น ซึ่งปรากฏภาพเงาคล้ายหัวและคอม้า ที่โผล่ขึ้นมาจากคลื่นของกลุ่มก๊าซในอวกาศ

‘เจมส์ เวบบ์’ หอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ทรงพลังที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา สามารถตรวจจับแสงอินฟราเรดด้วยความละเอียดที่ไม่เคยมีมาก่อน และสามารถจับภาพวัตถุที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตา ต่างจากการใช้กล้องโทรทรรศน์เชิงแสง

นาซากล่าวในแถลงการณ์ว่า “ทีมดาราศาสตร์นานาชาติเปิดเผยเกี่ยวกับ ‘โครงสร้างเรืองแสงขนาดเล็กของแผงคอม้า’ เป็นครั้งแรก”

ภาพจากกล้องเจมส์ เวบบ์แสดงให้เห็นว่า เมื่อแสงอัลตราไวโอเลตทำให้เมฆฝุ่นระเหยเป็นไอ อนุภาคต่าง ๆ จะถูกพัดออกโดยการไหลออกของก๊าซที่มีความร้อน นอกจากนั้น การสำรวจครั้งนี้ยังให้ข้อมูลเชิงลึกในเรื่องใหม่ ๆ แก่นักดาราศาสตร์ รวมไปถึงการที่ฝุ่นบดบังและเปล่งแสง และการช่วยให้เข้าใจรูปร่างหลายมิติของเนบิวลา

ผลงานชิ้นนี้เป็นการวิจัยของนายคาร์ล มิสเซลท์ จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันจันทร์ในหัวข้อ ‘ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์’

เนบิวลาหัวม้าสร้างความหลงใหลให้กับผู้ชื่นชอบอวกาศ นับตั้งแต่มีการค้นพบเมื่อปี 2431 โดยนายวิลเลียมินา เฟลมมิง นักดาราศาสตร์ชื่อดังชาวสกอตแลนด์ ในอดีต ภาพของเนบิวลาปรากฏให้เห็นเพียงเงาของแสงสีขาวโปร่งใส อย่างไรก็ดี เนบิวลามีชีวิตขึ้นมาได้ด้วยการจับภาพผ่านคลื่นอินฟราเรด

เสาของก๊าซไฮโดรเจนและฝุ่นอวกาศที่บอบบางนี้จะค่อย ๆ จางหายไปเมื่อถูกรังสีของดาวฤกษ์ใกล้กลืนกิน โดยนักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าเนบิวลาหัวม้านี้อาจหายไปในอีก 5 ล้านปี.

เครดิตภาพ : AFP