เมืองสระบุรี ที่เรามักจะเดินทางผ่านบ่อย ๆ เป็นประตูสู่เขาใหญ่ พอเราขับรถผ่านตัวเมือง ไม่ช้าก็จะเห็นโรงปูนหลายแห่ง หลายยี่ห้อแข่งกันเผาปูนควันขโมง ซึ่งขบวนการผลิตปูนซีเมนต์ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันปลดปล่อยคาร์บอนให้กับโลกจำนวนมาก นี่ยังไม่รวมการระเบิดเหมืองที่มีอยู่ทั่วไป และคาร์บอนจากอุตสาหกรรม หนักในนิคมต่าง ๆ อีกหลายแห่ง บริเวณนั้นมักจะเต็มไปด้วยกองทัพรถบรรทุกที่ขนส่งกันตลอดทั้งวัน ซึ่งปลดปล่อยคาร์บอนอีกจำนวนมหาศาล

ทราบว่าความคิดสุดสร้างสรรค์นี้ เริ่มจากสมาคมของผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ ๆ เขาเริ่มจับเข่าพูดคุยกันว่าจะลดคาร์บอนในขบวนการผลิตอย่างไร อาจจะมาจากความตั้งใจดี หรือมาจากวงการผู้ผลิตซีเมนต์ทั่วโลกกำลังถูกบีบให้รับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ต้องรายงานการปลดปล่อยคาร์บอนให้โปร่งใส ได้มาตรฐาน และมีแผนลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ในอนาคตอันใกล้ รวมถึงชวนเพื่อน ๆ ที่สระบุรีมาร่วมมือกัน ความคิดเหล่านี้คงต้องประสานความร่วมมือกับนักวิจัยของกระทรวง อว.ความคิดที่จะสร้างสระบุรีให้เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนตํ่านี้จึงเกิดขึ้น และน่าจะดีมากขึ้นถ้าทุกภาคีร่วมมือกัน ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคการศึกษา เพื่อทำเป็นต้นแบบ ให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายความยั่งยืน SDG 17 ข้อ จะพลิกโฉมให้สระบุรีเป็นเมืองคาร์บอนตํ่า ที่น่าอยู่ที่สุดของไทยในเวลาอีกไม่นาน

จากข่าวเมื่อปลายปี 2566 มี 21 องค์กรจากทุกภาคส่วน รวมหน่วยงานจาก 7 กระทรวงมาเซ็น MOU ร่วมมือกัน มีทุนสนับสนุนการวิจัยและขับเคลื่อนเบื้องต้นจากกระทรวง อว. มีผู้ว่าฯสระบุรีเป็นประธาน และมีคณะกรรมการหลายชุดขับเคลื่อน และรายงานตรงกับผู้ว่าฯ ดูรวม ๆ แล้วมันดู Wow มาก แต่ในระหว่างเรียนเพื่อน ๆ ที่มาจากสายงานความยั่งยืนมีคำถาม และคำแนะนำที่มีประโยชน์ ผมเลยรวบรวมมาแชร์ความคิด ถ้าท่านผู้ว่าฯสระบุรี และคณะทำงานต่าง ๆ เห็นว่าดีก็สามารถนำไปต่อยอด หรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้

1. ความหมายของ Sand Box ถ้าท่านผู้ว่าฯ และคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เข้าใจตรงกันเรื่อง Sand Box น่าจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทดลองนี้ได้มาก ในระดับนานาชาติเขาจะทดลองสมมุติฐานของเขาในพื้นที่ Sand Box เล็ก ๆ สามารถทดลองทำถูก ทำผิด เพื่อเรียนรู้ให้มั่นใจว่าทำได้จริง และขยายผลได้ เรายังหาข้อมูลไม่เจอเลยว่างานทดลองใน Sand Box มีกี่เรื่อง ใช่เรื่องที่สำคัญเร่งด่วนของคาร์บอนหรือไม่ และอีกอย่างการจัดการ Sand Box โดยระบบราชการ โดยนักวิทยาศาสตร์ และโดยนักธุรกิจ มีความแตกต่างกันมาก ผู้สอนยังตอบได้ไม่ชัดเจนว่าจัดการแบบไหน คาดว่าจัดการด้วยระบบราชการ ซึ่งเต็มไปด้วยขั้นตอน ระเบียบการประชุม และเอกสารรายงาน

2. กระดุมเม็ดแรกของเมืองคาร์บอนตํ่าคือ Data เราพยายามหาข้อมูลว่าปัจจุบันเมืองสระบุรีมีระดับการปลดปล่อยคาร์บอนเท่าไร และคำว่าเมืองคาร์บอนตํ่า จะร่วมกันกำหนดไว้ที่เท่าใด อันนี้พอเห็นข้อมูลบ้างแต่ไม่แน่ใจว่าถูกต้องแม่นยำแค่ไหน เป็นคาร์บอน Scope1 หรือรวม 1/2/3 พอถามเจาะลึกถึง 21 องค์กรที่ทำ MOU กันว่าพวกเขาปลดปล่อยคาร์บอนกันเท่าไร เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ของภาพรวม Data สำคัญแบบนี้แทบจะไม่มี หรือไม่มีการเปิดเผยเลย การเริ่ม Sand Box ด้วยการระเบิดจากข้างในน่าจะดีที่สุด ผมว่าเริ่มจากหาข้อมูลคาร์บอนจาก 21 องค์กรก่อน เพราะทุกคนต้องทำแผนอยู่แล้ว ถ้าเราไม่รู้ ไม่ลด ไม่ชดเชย จะไปบอกให้คนอื่นทำได้อย่างไร

3. คำนวณคาร์บอนในระดับองค์กร และระดับบุคคล การคำนวณคาร์บอนของแต่ละองค์กรเพื่อให้รู้ว่าแต่ละหน่วยงานปลดปล่อยคาร์บอนเท่าไร และต้องลดเท่าไร ถ้ายังคำนวณไม่ได้ น่าจะหาอาจารย์จากมหาวิทยาลัยหรือนักวิชาการจากหน่วยงานที่มีความรู้เรื่องคาร์บอนมาช่วยได้ ที่สำคัญเมืองคาร์บอนตํ่าในโลก ประชากรส่วนใหญ่เขาคำนวณคาร์บอนส่วนบุคคลเป็น เขารู้ และมีความรับผิดชอบที่จะปลดปล่อยคาร์บอนได้ไม่เกิน 2 ตันต่อคนต่อปี เพื่อให้โลกไม่ร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศา ประชากรสระบุรี 6 แสนกว่าคน รวมคนนอกพื้นที่ที่ไปทำงานน่าจะรวมแล้วล้านกว่าคน ถ้าคุมได้ 2 ตัน ก็ปีละ 2-3 ล้านตันแล้ว ผู้สอนบอกว่าท่านและเพื่อน ๆ ในทีมงานความยั่งยืนยังไม่เคยคำนวณคาร์บอนส่วนบุคคลเลย เช่นกันผมว่าเริ่มจากบุคลากรใน 21 องค์กรคำนวณให้เป็นก่อนดีที่สุด

4. การลงทุน โครงการที่ Wow มากเช่นนี้ ต้องการเม็ดเงินลงทุนที่ Wow เช่นกัน ลองถามทั้ง 21 หน่วยงาน ก็ยังไม่ได้คำตอบชัดเจนว่าทั้ง 21 องค์กรวางแผนการลงทุนร่วมกันไว้เท่าไร ด้วยแหล่งทุนไหน ทั้งเงินลงทุนทดลองก้อนเล็กใน Sand Box และเงินลงทุนระยะขยายผลเพื่อให้เกิด Impact

5. ภาพลักษณ์ของเมือง อาจารย์ฉาย Slide สุดท้าย ภาพศาลาว่าการใหม่ของสระบุรี ผมว่าดูแห้งแล้งมาก ไม่สะท้อนภาพเมืองคาร์บอนตํ่า ผมว่าสถาปนิก และภูมิสถาปนิกจิตอาสา ที่มีความรู้เรื่องความยั่งยืน น่าจะช่วยให้คำปรึกษา ช่วยออกแบบปรับปรุงอาคารให้เป็น “ศาลาว่าการคาร์บอนตํ่าต้นแบบ” ได้ไม่ยากนัก

หวังว่าข้อคิดดี ๆ ที่รวบรวมมาจากเพื่อน ๆ ในห้องเรียน จะเป็นประโยชน์กับท่านผู้ว่าฯ ประธาน และคณะทำงานชุดต่าง ๆ และผู้นำ 21 องค์กรที่มาร่วมเซ็น MOU สระบุรี Sand Box นะครับ พวกเราอยากเห็นต้นแบบเมืองคาร์บอนตํ่าเร็ว ๆ นี้.