เคยรู้สึกไหมว่า อุณหภูมิที่วัดได้ไม่เท่ากับความร้อนที่เรารู้สึกจริง ๆ บางทีอากาศอาจจะ 35-40 องศา แต่ทำไมกลับรู้สึกเหมือนใช้ชีวิตอยู่ในนรก เดินอยู่ท่ามกลางทะเลทราย ซึ่งสาเหตุหรือปัจจัยร่วมที่ทำให้รู้สึกเช่นนี้คือ ‘ดัชนีความร้อน’ นั่นเอง

Sustainable Daily ชวนไขข้อสงสัยและทำความรู้จักกันดัชนีดังกล่าวที่มีผลต่อความรู้สึกร้อน รวมถึงแนวทางในการรับมือกับการใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพอากาศเดือดระอุเช่นนี้ ไปพร้อมกับนายธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา

‘ดัชนีความร้อน’ (Heat Index) เป็นค่าที่วัดจากทั้งอุณหภูมิและความชื้นในอากาศในแต่ละช่วงเวลาและพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อบ่งบอกถึงอุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ ณ ขณะนั้น (Apparent Temperature) ว่าร่างกายของเราจะรู้สึก ‘ร้อน’ แค่ไหน และอุณหภูมิที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นเช่นไร โดยทั่วไป ดัชนีความร้อนจะสูงกว่าอุณหภูมิที่วัดได้จริงเสมอ ยิ่งความชื้นในอากาศสูง ร่างกายของเราจะระบายความร้อนได้ยากขึ้น เหงื่อก็จะระเหยได้ช้าลง ทำให้เรารู้สึกร้อนอบอ้าวกว่าปกติ ซึ่งอุณหภูมิที่วัดได้ด้วยเทอร์โมมิเตอร์นั้น บอกเราถึงอุณหภูมิของอากาศโดยรอบ แต่ไม่ได้บอกถึง ‘ความรู้สึก’ ของเราที่มีต่ออากาศ เนื่องจากร่างกายของเรามีกลไกในการรับรู้ความร้อนและเย็นที่ซับซ้อน อีกทั้งปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อความรู้สึกของเรา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิเพียงอย่างเดียว

ธนะสิทธิ์ ในฐานะรองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า อุณภูมิคือค่าที่บ่งชี้ถึงระดับพลังงานจลน์ของอนุภาคสสาร ตั้งแต่ดิน น้ำ อากาศ สิ่งของต่าง ๆ รวมถึงร่างกายของเราที่ล้วน ประกอบไปด้วยอนุภาคที่เคลื่อนที่ไปมา หากอนุภาคเคลื่อนที่เร็ว มีพลังงานมาก อุณหภูมิก็จะสูง หากเคลื่อนไหว ช้า พลังงานต่ำ อุณหภูมิก็จะต่ำตามไปด้วย ซึ่งการวัดค่าพลังงานจะสามารถออกมาเป็นตัวเลขในหน่วยต่าง ๆ ได้อย่างที่ทราบกัน อาทิ เซลเซียส ฟาเรนไฮต์ ฯลฯ ขณะที่ ความรู้สึกร้อน – เย็น เป็นเรื่องของ ‘การรับรู้’ ที่สมองตีความจากประสาทสัมผัสที่กำลังถูกกระตุ้นจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การถ่ายเท พลังงานระหว่างวัตถุที่มีอุณหภูมิแตกต่างจากร่างกาย ทำให้รู้สึกได้ถึงความร้อน – เย็น ทว่าความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของร่างกายกับอุณหภูมิอากาศ ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อความรู้สึกร้อน – เย็น ‘ความชื้น’ ก็ถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความรู้สึกร้อนหรือเย็นได้เช่นกัน

“โดยทั่วไป ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูงจะทำให้ร่างกายรู้สึกร้อนกว่าพื้นที่ที่ความชื้นต่ำ หรืออากาศแห้ง แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีอุณหภูมิเท่ากัน”

สำหรับการพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนในประเทศไทย นายธนะสิทธิ์ ระบุว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้นำข้อมูลการพยากรณ์อุณหภูมิและความชื้นจากแบบจำลองพยากรณ์อากาศ เป็นระบบพยากรณ์สภาพอากาศแบบตัวเลข (TMD-WRF) มาวิเคราะห์ความถูกต้อง เพื่อนำไปคำนวณหาค่าดัชนีความร้อน และเผยแพร่ข้อมูลพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนล่วงหน้า 10 วัน ในช่วงเวลา 7.00 น., 10.00 น., 13.00 น., และ 16.00 น. ทางเว็บไซต์กลุ่มวิจัยและพัฒนาสารสนเทศอุตุนิยมวิทยา พร้อมแสดงผลเป็นภาพไล่ตามระดับการเตือนภัยจากความร้อนในพื้นที่ประเทศไทย เพื่อนำไปใช้ในการเตือนภัยที่จะเกิดขึ้นจากความร้อน และการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพเนื่องจากความรู้สึกร้อนของผู้ที่ต้องปฏิบัติงานอยู่ท่ามกลางความร้อนเป็นเวลานาน โดยความรุนแรงของดัชนีความร้อนมีอยู่ด้วยกัน 4 ระดับ คือ 1. ระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) 2. ระดับเตือนภัย (สีเหลือง) 3. ระดับอันตราย (สีส้ม) และ 4. ระดับอันตรายมาก (สีแดง)

นอกจากนี้ นายธนะสิทธิ์ ยังได้แนะนำแนวทางในการดูตนเองช่วงหน้าร้อนเพื่อลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจากความร้อน ด้วยการดื่มน้ำเปล่าให้บ่อย สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีและมีสีอ่อน สวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง ทาครีมกันแดด หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงบ่ายหรือช่วงแดดจัด ตลอดจนเลือกรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ รวมถึงติดตามสถาการณ์ค่าดัชนีความร้อนจากกรมอุตุนิยมวิทยาอยู่เสมอ และสำคัญที่สุดคือการสังเกตเฝ้าระวังอาการจาก ‘โรคลมร้อน’ หรือ ‘ฮีทสโตรก’ (Heat Stroke) ซึ่งมีตั้งแต่ อุณหภูมิร่างกายแตะ 40 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า, สภาวะทางจิตหรือพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น สับสน กระสับกระส่าย หงุดหงิด เพ้อ ชัก และโคม่า, หายใจเร็วและหัวใจเต้นเร็ว, ปวดศีรษะ, คลื่นไส้อาเจียน, ผิวหนังแดงร้อนและแห้ง ไปจนถึงขั้นหมดสติ และอาจถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งหากพบผู้ป่วยโรคฮีทสโตรก ให้รีบปฐมพยาบาลและนำส่งโรงพยาบาลทันที

ทั้งนี้ สำหรับฤดูร้อนของประเทศไทยในปี 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการคาดการณ์ว่าจะสิ้นสุดลงภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม โดยในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมจะมีอุณหภูมิที่สูงแตะ 40 องศาเซลเซียสให้เห็นอยู่ หลังจากนั้นคาดว่าอากาศจะแปรปรวนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีลมตะวันตกเฉียงใต้เข้ามาปกคลุมทำให้มีฝนในช่วงบ่าย-ค่ำ จะส่งผลให้อุณภูมิค่อย ๆ ลดลง และคาดว่าในปีนี้ฤดูฝนของประเทศไทยจะเริ่มขึ้นที่สัปดาห์ที่ 4 ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม ซึ่งถือว่าช้ากว่าค่าเฉลี่ยตามปกติ 1 สัปดาห์

ข้อมูลเพิ่มเติมและภาพจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา, กรมอนามัย

ปิยาพัชร นนทะสี
[email protected]