เมื่อวันที่ 3 พ.ค. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่สื่อสังคมออนไลน์ลงข้อความระบุว่า ผอ.ข้าวไข่ต้ม ย้ายตำแหน่งใหญ่กว่าเดิม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเอาไปซุกรอเรื่องเงียบสามเดือนกว่า ล่าสุด 25 เม.ย. 67 มีคำสั่งให้ไปดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จ.เชียงใหม่ ดีกว่าเดิม พร้อมกับลงภาพถ่าย คำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 898/2567 สั่ง ณ วันที่ 25 เมษายน 2567 ซึ่งข้อความข่าวดังกล่าวอาจจะทำให้สังคมเข้าใจผิดว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการไม่เหมาะสม โดยสั่งให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ใหญ่กว่าเดิม นั้น

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า จากประเด็นดังกล่าวต้องขอชี้แจงว่าการนำเสนอข้อมูลของเรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่ง โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนนักเรียนเพียง 111 คน พื้นที่ 3 ไร่เศษ ในขณะที่โรงเรียนเดิม คือ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจำนวนนักเรียน 496 คน พื้นที่ 654 ไร่ จึงขอยืนยันว่าโรงเรียนที่ไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวมีปริมาณงานที่ลดลงกว่าเดิม มีนักเรียนน้อยกว่าเดิม และมีพื้นที่ในการบริหารจัดการน้อยกว่าเดิม จึงไม่ใช่สั่งให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ใหญ่กว่าเดิม และไม่ใช่ สพฐ. สั่งย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าวไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ แต่เป็นการสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ส่วนการย้ายยังไม่ถึงช่วงเวลาที่ต้องดำเนินการ ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าวจะได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ หรือไม่ ยังไม่เป็นที่แน่นอน ต้องขึ้นอยู่กับคู่แข่งขันและความเหมาะสม

ทั้งนี้การที่ สพฐ. สั่งให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวที่โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากมีเหตุผลความจำเป็น คือ ในระหว่างที่สั่งให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่ที่ สพฐ. ที่กรุงเทพมหานครแล้ว ปรากฏว่า สามีของผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าวป่วยหนักต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงมีความลำบากที่ต้องเดินทางไปกลับระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับกรุงเทพมหานคร ตามหลักคุณธรรมในการบริหารงานบุคคล จึงมีความจำเป็นต้องสั่งการให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวที่โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้มีโอกาสดูแลสามีได้อย่างใกล้ชิด เพราะตราบใดที่ยังไม่มีผลการพิจารณาหรือตัดสินว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าวมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ก็ต้องถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตามหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย

“ขอยืนยันว่า สพฐ. ได้พิจารณาและดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผนของทางราชการอย่างเคร่งครัด ไม่มีการเลือกปฏิบัติทั้งสิ้น ซึ่งหากผลการดำเนินการทางวินัย หรือผลของการดำเนินคดีอาญาในเรื่องที่กล่าวหาผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าว ออกมาอย่างไร สพฐ. ก็ต้องดำเนินการไปตามนั้นอย่างตรงไปตรงมา ส่วนรายละเอียดในการดำเนินการในกรณีดังกล่าว ขอกล่าวโดยสังเขป ดังนี้ คือกรณีดังกล่าว เริ่มต้นจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงการจัดเลี้ยงอาหารให้แก่นักเรียนของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เพจดังกล่าวได้เริ่มลงภาพจานข้าวกับไข่ต้ม 1 ฟอง กับน้ำพริกตาแดง ในวันที่ 12 มกราคม 2567 ซึ่งเมื่อมีข่าวดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าว ซึ่งดำรงตำแหน่งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21 จังหวัดแม่ฮ่องสอนในขณะนั้น ให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 108/2567 สั่ง ณ วันที่ 12 มกราคม 2567 และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ในวันเดียวกัน และให้คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงลงพื้นที่สืบสวนข้อเท็จจริงโดยทันที และในขณะเดียวกันนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. และคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน ซึ่งพบว่าในความเป็นจริงแล้วการจัดอาหารกลางวันสภาพดังกล่าว ทำเพียงมื้อเดียว เนื่องจากโรงเรียนใช้งบประมาณจัดอาหารในมื้อนั้นไปจัดเลี้ยงหมูกระทะให้แก่นักเรียน เนื่องในวันปีใหม่และในโอกาสวันเด็ก ในวันที่ 13 มกราคม 2567 ซึ่งการเบิกจ่ายเงิน ในมื้อที่มีไข่ต้ม 1 ฟอง ได้เบิกจ่ายตามความเป็นจริง แต่สภาพที่พบอย่างหนึ่ง คือ ครูภายในโรงเรียน มีความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย อย่างไรก็ตาม ผลการสืบสวนข้อเท็จจริงในการจัดอาหารไม่เหมาะสมในกรณีดังกล่าว ประกอบกับพฤติการณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง เห็นว่ามีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 288/2567 สั่ง ณ วันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งระยะเวลาการสอบสวน ตาม กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วย การสอบสวนพิจารณา พ.ศ. 2550 มีระยะเวลาในการดำเนินการ 180 วัน เมื่อนับระยะเวลาปัจจุบันเวลาผ่านไปเพียง 90 วัน เรื่องจึงอยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง นอกจากนั้นทางสำนักงาน ป.ป.ช.ยังได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาในกรณีที่เป็นข่าวดังกล่าวด้วย

“ในระหว่างตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2567 เป็นต้นมา ผู้อำนวยการโรงเรียนรายดังกล่าว จึงปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรุงเทพมหานครมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้สั่งการให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในโครงการส่งเสริมอาชีพคนตาบอด ที่โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการชั่วคราว ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 385/2567 สั่ง ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เนื่องจากสามีป่วยหนักดังกล่าวมาแล้ว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีการติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะ และเมื่อผู้อำนวยการคนดังกล่าวไปปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวที่โรงเรียนแห่งใหม่ดังกล่าว ก็ได้สั่งการกำชับให้ปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล อย่างไรก็ตาม ขอให้สังคมมีความเชื่อมั่นว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการตามระเบียบ กฎหมาย อย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ของทางราชการอย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว