ซึ่งบางมุมมองก็น่าสนใจว่า คนพวกนี้ (และคนรุ่นใหม่ที่อยู่ตั้งแต่ตั้งรัฐบาล) จะต้องมีส่วนในการล้างภาพ “ใช้คนเก่า คิด ทำแบบอนุรักษนิยม”ออกจากรัฐบาลให้ได้ รวมถึงถ้าให้ดี ก็ควรจะล้างภาพการจัดรัฐมนตรีตามโควตาได้ เพราะดูแล้วมันรู้สึกอย่างไรก็ไม่ทราบ เวลาเห็นนักการเมืองเขาพูดกันว่า คนนี้ มีพวก สส.ในมือเท่านี้ ต้องได้รัฐมนตรีจำนวนเท่านี้

คู่แข่งที่สำคัญก็คือพรรคก้าวไกล ซึ่งง่ายๆ ว่า “เขาเปิดกระแสเสรีนิยมใหม่” แล้วได้รับการตอบรับดี เช่น เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การที่สัดส่วนแรงงาน ชนเผ่า ได้มีสิทธิมีเสียงในสภา และผลักดันกฎหมายเพื่อกลุ่มของตัวเอง ..ภาพของการให้โอกาสคนชายขอบมันดูดีได้ง่าย ขณะที่เพื่อไทยก็ยังสลัดภาพนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไม่หลุด

ซึ่งก็เข้าใจได้ ว่า นายทักษิณ “ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการรัฐประหาร” แต่เมื่อมาถึงจุดนี้ หลายคนเขาบอกให้ไปอ่านคำพิพากษาของศาลดีๆ ว่าสมควรเอาผิดหรือไม่ และการกลับมาแบบมนุษย์มหัศจรรย์ นอนเรือนจำคืนเดียว จากนั้นนอนติดเตียง รพ.ตำรวจหกเดือน ก็ทำให้คนที่เข้าข้างอดีตนายกฯ บางคนเห็นแล้วยังรู้สึกว่า..มันไม่สง่างาม

พรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้จึงต้องเร่งทำผลงานมากๆ โดยเฉพาะเพื่อไทย เพื่อกลบข้อครหา “เป็นพรรคประจำตระกูล” ขณะที่พลังประชารัฐ (พปชร.) นั้นเผลอๆ มีแนวโน้มที่จะไปรวมกับเพื่อไทย หรือแยกกลุ่มออกไป ขณะที่รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พอไม่มีบิ๊กตู่เป็นหัวเรือ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ไม่ทราบว่าอนาคตออกรูปไหน

ก็มีรัฐมนตรีใหม่ที่พูดถึงแนวทางที่จะทำงานบ้างแล้ว อย่าง “เบนซ์” นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ลูกบ้านใหญ่ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อเข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ก็เท่ากับ พปชร.คุมกระทรวงเบ็ดเสร็จ  โดยเจ้าตัวจะช่วยงาน รมว.ให้มากที่สุด และได้พูดไว้เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ว่า เป้าหมายการทำงาน คือการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ทำงาน

“ซึ่งการใช้เทคโนโลยี การสื่อสารถือเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะเกษตรกรที่สูงอายุ  ยิ่งเมื่อโลกเปลี่ยนไป หากเราใช้รูปแบบเดิมๆ ผลลัพธ์อาจจะเป็นแบบเดิมหรือน้อยกว่าเดิมด้วยซ้ำ เนื่องจากทุกอย่างเปลี่ยนไป โดยเฉพาะภูมิอากาศซึ่งส่งผลกระทบกับผลผลิต จึงจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ” ก็เข้ากับแผนเติบโตอย่างยั่งยืนหรือ SDGs ที่ทั่วโลกตื่นตัว

ขณะที่ “น้ำ” น.ส.จิราพร สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ มีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่อง “การมีโทรทัศน์สำหรับนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์” ซึ่งไม่รู้ใช้คลื่นจากไหน ต้องออกเป็น พ.ร.บ.เหมือนไทยพีบีเอสหรือไม่ หรือใช้ทีวีดาวเทียม แต่สิ่งที่ท้าทายคือ การผลิตเนื้อหา ที่เมื่อเป็นซอฟต์พาวเวอร์ต้องไม่ยัดเยียด ไม่หลอนคนดูว่าอันนี้ดี

อาจดูตัวอย่างรายการโทรทัศน์ญี่ปุ่น อย่างทีวีแชมเปี้ยน ซึ่งข่าวว่าจะกลับมาทำใหม่ รายการนี้จะส่งเสริมให้ผู้มีความรู้ความสามารถด้านต่างๆ มาแข่งขันกัน ตั้งแต่งานทำอาหาร งานออกแบบ งานตกแต่ง ซึ่งดูแล้วน่าสนใจหมดเลย และคิดว่า สินค้าท้องถิ่น สินค้าทำมือของญี่ปุ่นมันมีเสน่ห์มาก ช่วยกระตุ้นความอยากบริโภค

อีกอย่างคือในงาน “10 เดือนที่ไม่ต้องรอ ทำต่อให้เต็ม 10” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พูดตอนหนึ่งว่า “จะปรับโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม ใหม่อีกครั้งหนึ่งเร็วๆ นี้ พร้อมจะแก้กฎหมายทางเศรษฐกิจอีกหลายฉบับ” ก็น่าสนใจแล้วว่าในช่วง 3 ปีรัฐบาลนายเศรษฐา จะผุดกระทรวงใหม่ๆ อะไรหรือไม่

แต่เบื้องต้น ศึกระหว่างนายกฯ กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องดอกเบี้ยจะจบอย่างไรก่อนนี่สิ น่าคิด.