กรณีการตรวจสอบ 8 โปรเจกต์ยักษ์ โครงการก่อสร้างตลิ่งป้องกันน้ำท่วมเพื่อพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย พบผู้รับเหมา 2 รายใหญ่ที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับงานมาตั้งแต่ปี 2562-2565 พบว่าก่อสร้างไม่เสร็จ มีการขยายสัญญาให้ค่าปรับเป็น 0 บาท แต่ก็ยังไม่ทำการก่อสร้าง ซึ่งอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ลงพื้นติดตามแก้ปัญหาที่ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกช่วงเดือน ก.พ.66 และครั้งที่สองปลายเดือน เม.ย.67 ที่ผ่านมา พบว่าไม่มีอะไรดีขึ้น ผู้รับเหมา 2 หจก. ไม่ก่อสร้าง มีพฤติกรรมทิ้งงาน สร้างปัญหาให้กับประชาชน จนมีคำสั่งประกาศยกเลิกงานกับ 2 หจก.ลงในเว็บไซต์ กรมโยธาธิการและผังเมือง จะมีผลให้ถูกขึ้นแบล็กลิสต์ ห้ามประมูลงานกรมโยธาฯ และทุกส่วนราชการ และต้องจ่ายค่าเสียหายตามกฎหมายกำหนด แต่ชาวบ้านยังรอฟังการแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ด้านเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการต่อต้านการทุจริต ป.ป.ท.เขต 4 ประจำ จ.กาฬสินธุ์ เตรียมชงผู้ตรวจการแผ่นดิน กมธ.ป.ป.ช.-ปปง. และ กมธ.การเงินการคลัง ตรวจสอบตามที่เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ผวาอิทธิพลมืด! สั่ง23โรงพักสแกนคนแปลกหน้า-อาวุธ เข้าพื้นที่ ‘8โครงการ7ชั่วโคตร’

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ ยังเกาะติดการแก้ไขปัญหา พบว่าชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ยังคงจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันด้วยความทุกข์ใจ ยังคงรอความชัดเจนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ต้องการเห็นเอกสารเลิกสัญญากับ 2 หจก. ที่ชาวบ้านให้สมญานามว่า ผู้รับเหมาขาใหญ่ เนื่องจากเชื่อว่ากฎหมายและความยุติธรรมไม่สามารถทำอะไรผู้รับเหมาขาใหญ่ได้เพราะถึงวันนี้ หน่วยงานตรวจสอบเกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สตง.ประจำจังหวัด ยังไม่กล้าเข้าตรวจสอบปัญหานี้ทั้งที่ข่าวออกทุกวัน อีกทั้งเครือข่าย ป.ป.ท.ภาค 4 ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์-ธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์-ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน ก็ออกมาร้องเรียนนำเสนอผ่านสื่อมวลชนทุกวัน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จะให้เหตุผลว่าไม่รู้เรื่องยังไม่ได้รับการร้องเรียนคงเป็นไปไม่ได้แต่ควรที่จะออกมาตรวจสอบคู่ขนานเพื่อรักษางบประมาณแผ่นดินภาษีของประชาชน

ในทางกลับกันชาวบ้านกลับต้องหวาดผวา กลุ่มชายฉกรรจ์ที่อ้างตัวว่าเป็นตัวแทนของผู้รับเหมาขาใหญ่เข้ามาในพื้นที่บอกให้ชาวบ้านหยุดให้ข่าว มาปล่อยข่าวว่าเจรจากับผู้รับเหมาช่วงให้กลับมาทำงานต่อ ดังจะเห็นมีการนำรถแบ๊กโฮมาจะทำงานต่อ ที่จุดก่อสร้างถนนพร้อมพรรณอุทิศ แต่ก็ทำงานได้เพียง 1 วัน ก็นำรถแบ๊กโฮมาจอดทิ้งไว้เฉยๆ ทำให้ชาวบ้านเกิดความระแวงสงสัยมากกว่าเดิม รู้สึกกระทบต่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตั้งข้อสงสัยว่าพฤติกรรมเช่นนี้ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์กำลังเกิดอะไรขึ้นกันแน่ มีเหตุทุจริต มีการโกงค่าแรง ทิ้งงาน เบิกเงิน ทำไมถึงไม่มีใครสนใจเข้ามาแก้ไขปัญหา บทสรุปในกลุ่มชาวบ้านยืนยันที่จะยกระดับการร้องเรียนไปที่หน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์

นายเศรษฐชัย อายุ 46 ปี หนึ่งในชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน ชุมชนหัวโนนโกเกษตร เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ชาวบ้านบริเวณจุดก่อสร้างโครงการระบบท่อประปาป้องกันน้ำท่วม งบ 148 ล้าน ได้รับผลกระทบและเดือดร้อน จากการดำเนินชีวิต และค้าขายมาตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นมา ระยะเวลายาวนานถึง 5 ปี ยังไม่ได้รับการแก้ไข ถึงแม้ อธิบดีกรมโยธาฯ จะเข้ามาแก้ปัญหาคงไม่พอเพราะมีความเคลื่อนไหวใต้ดินแต่ขาดความสนใจจากทางฝ่ายปกครอง อีกทั้งยังมีเรื่องเข้ามากระทบจิตใจ เหมือนสงครามประสาท ความเป็นอยู่ของชาวบ้านทุกวันนี้จึงระทมอมทุกข์หวาดผวาในความปลอดภัย ที่ไม่รู้อนาคตว่าในชั่วชีวิตนี้ จะพบกับความสุขอีกหรือไม่ เพราะถึงวันนี้แม้ว่ากรมโยธาฯ ยกเลิกสัญญากับ 2 ผู้รับเหมาไปแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นมีประกาศที่เป็นลายลักษณ์อักษรออกมาเลย ชาวบ้านจึงกลัวถูกหลอกและอดคิดไม่ได้ว่าจะมีการอุ้มกันระหว่างกรมโยธาฯ กับผู้รับเหมา ด้วยวิธีการเปลี่ยนชื่อ หจก. แต่ยังเป็นกลุ่มรับเหมาขาใหญ่กลุ่มเดิม

“ในช่วงที่รอคอยคำตอบจาก กรมโยธาฯ สิ่งที่ชาวบ้านอยากรู้และอยากเห็นความจริงใจในการแก้ปัญหาของกรมโยธาฯ กระทรวงมหาดไทยคือ โครงการก่อสร้างทั้ง 8 โครงการ มีแนวทางการเบิกจ่ายอย่างไร คุ้มค่ากับเงินภาษีประชาชนจำนวนกว่า 80 ล้านบาท ที่มีการเบิกจ่ายกันนั้นหรือไม่ ผู้รับจ้างทำงานคุ้มค่าหรือไม่ หากกรมโยธาฯ ตอบไม่ได้ ก็ควรมีหน่วยงานหรือองค์กรภาครัฐ เช่น สตง.-ป.ป.ช-ป.ป.ท.-ดีเอสไอ เข้ามาตรวจสอบโครงการต่างๆ เหล่านี้อย่างเคร่งครัด หรือ ผวจ.กาฬสินธุ์ ก็ควรจะตั้งคณะทำงานขึ้นมารับเรื่องร้องทุกข์และดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชนแบบคู่ขนานกันไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ส่วนกรมโยธาฯ ควรเปิดเผยรายชื่อของช่างผู้ควบคุมงาน ผู้ตรวจการจ้าง ผู้รับจ้าง และคณะกรรมการผู้ตรวจงานโครงการก่อสร้างเหล่านี้เพื่อพิสูจน์ความคุ้มค่าของงบประมาณแผ่นดิน เพราะงบประมาณที่นำมาก่อสร้าง ผู้รับเหมาเบิกไปทุกบาททุกสตางค์นั้นเป็นเงินภาษีของประชาชน จึงควรจะให้มีการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่ามากที่สุด” นายเศรษฐชัย กล่าวในที่สุด

นางวาสนา อายุ 62 ปี ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและความเดือดร้อน กล่าวว่า หลังจากทราบว่ากรมโยธาฯ จะเลิก 8 โครงการกับผู้รับเหมา ตนกับเพื่อนบ้านก็ดีใจกันยกใหญ่ ว่าจะได้ปลดล็อกปัญหา 7 ชั่วโคตร เสียที และอีกไม่นานก็จะมีผู้รับเหมาฝีมือดีเข้ามาทำงานก่อสร้างให้กับประชาชน แต่กลับได้ยินข่าวว่าการทำงานจะยังเป็นผู้รับเหมารายเดิม ตนจึงรู้สึกหวาดระแวงและเริ่มไม่มั่นใจต่อกระบวนการยุติธรรม อีกทั้ง เมื่อวันที่ 29 เม.ย.67 อธิบดีกรมโยธาฯ เข้ามาแก้ไขปัญหาก็ได้ยินชัดเจนว่าจะเร่งรัดช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ชาวบ้านด้วยความรวดเร็ว จะกำชับโยธาฯ จังหวัดให้ดำเนินการเร่งรัดผู้รับเหมาทำการแก้ไข จุดที่ชาวบ้านเดือดร้อนมากที่สุด 2 จุด ที่บริเวณถนนชุมชนหัวโนนโกเกษตร และถนนพร้อมพรรณอุทิศด้วยด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ก่อนที่ฝนจะตกลงมาเกิดภาวะน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ เพราะการก่อสร้างค้างคา น้ำใต้ดินในท่อไม่มีทางระบายแน่นอน อีกทั้งต้องการทวงถาม อธิบดีกรมโยธาฯ ว่า จะได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินที่กลุ่มแรงงานค้างเอาไว้ ที่ยังไม่ได้จ่ายให้กับทางร้านค้านั้น จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร

“การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ ทราบจากเครือข่ายธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ที่เข้าประชุมร่วมกับอธิบดีกรมโยธาฯ เจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาฯ จังหวัดและตัวแทนเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ร่วมกับตัวแทนผู้รับเหมา ได้มีการรับปากตกลงกันเป็นมั่นเป็นเหมาะ โดยในส่วนของแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าดังกล่าว กรมโยธาฯ จะนำเงินโครงการส่วนที่เหลือมาจ่ายเป็นค่าจ้างให้ แต่ถึงวันนี้ยังไม่เห็นผู้รับเหมาลงมือทำงานเลย เคยทิ้งงานไปอย่างไรก็อย่างนั้น ปล่อยให้ชาวบ้านรอคอยความหวังอย่างลมๆ แล้งๆ ต่อไป หากไม่มาทำงานในเร็ววัน ก็คงจะทนไม่ไหวแล้ว ชาวบ้านคงจะยกระดับการร้องเรียนที่หน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อประจานความหย่อนยานของระบบราชการในยุคนี้ที่ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน” นางวาสนา กล่าวในที่สุด

ทีมข่าวเฉพาะกิจเดลินิวส์ รายงานว่า ผลการตรวจสอบยังคงพบเศษวัสดุ กองดิน กองหิน บล็อกวางระเกะระกะ ทั้ง 6 จุดในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และยังไม่พบว่ามีการเจาะเดินท่อเชื่อมทางน้ำ รวมไปถึงอาคารชลศาสตร์ 2 แห่ง โครงการ 148 ล้านบาท ก็ไม่รู้ว่าอยู่จุดไหน นอกจากนี้ริมตลิ่งในจุดก่อสร้างก็มีเพียงกองวัสดุ ซึ่งคนในพื้นที่ยืนยันว่าไม่มีการก่อสร้างจึงไม่เข้าใจว่า 8 โปรเจกต์ “7 ชั่วโคตร” กรมโยธาธิการและผังเมือง อนุมัติให้เบิกเงินจำนวน 250 ล้านบาทได้อย่างไร