สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ว่าสหราชอาณาจักรปฏิเสธข้อตกลง ในสนธิสัญญาโรคระบาดของดับเบิลยูเอชโอ เนื่องจากมีพันธกรณีที่กำหนดให้ต้องแจกวัคซีน 5 ชนิด โดยรัฐบาลอ้างว่า จะไม่ลงนามกับข้อตกลงโรคระบาดทุกรูปแบบ ซึ่งบ่อนทำลายอธิปไตยของสหราชอาณาจักร

ตัวแทนประเทศสมาชิกของดับเบิลยูเอชโอทั้ง 194 ประเทศ อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อยอมรับข้อตกลงการแพร่ระบาด ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ค. 2564 โดยในช่วงที่เกิดวิกฤติโรคโควิด-19 ประเทศต่าง ๆ วางแผนลงนามในเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย หรือเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า สนธิสัญญาโรคระบาดใหญ่ หรือข้อตกลงโรคระบาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ จัดการกับภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพระดับโลกครั้งถัดไปได้อย่างเป็นเอกภาพ

ภายใต้เงื่อนไขของร่างสนธิสัญญาฉบับล่าสุด ซึ่งขณะนี้คือฉบับที่ 9 และเป็นร่างฉบับสุดท้าย รัฐสมาชิกทั้งหมด รวมถึงสหราชอาณาจักร จะต้องมอบ “ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด” ร้อยละ 20 ที่มีอยู่ ให้กับประเทศอื่น ๆ และจะไม่สามารถกักตุนยารักษาโรค, อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (พีพีอี) และวัคซีน ได้

เอกสารขององค์การอนามัยโลกระบุว่า หน่วยงานที่ดำเนินการโดยสหประชาชาติจะได้รับ “การเข้าถึงแบบเรียลไทม์” ในผลิตภัณฑ์รักษาโรคร้อยละ 10 ฟรี และอีกร้อยละ 10 “ในราคาที่เอื้อมถึง” โดยประเทศต่าง ๆ ต้องจัดสรรผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งเพื่อการวินิจฉัย รักษา รวมไปถึงวัคซีน ให้กับประเทศซึ่งเผชิญกับความท้าทายทางสุขภาพ ภายในห้วงเวลาที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการกักตุนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดในระดับชาติ

แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาระบุว่า “สหราชอาณาจักรไม่สามารถยอมรับข้อเสนอเหล่านี้ และยังไม่เห็นด้วยกับข้อตกลง” ซึ่งสหราชอาณาจักรจะยอมรับข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมายนี้ ก็ต่อเมื่อมีการให้คำมั่นว่า วัคซีนที่ผลิตโดยสหราชอาณาจักรจะถูกใช้ภายในประเทศก่อน เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของชาติ

กล่าวคือ สหราชอาณาจักรต้องการอำนาจในการตัดสินใจว่า จะแจกจ่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพไปทั่วโลกเมื่อใด และจะนำมาใช้ภายในประเทศเมื่อใด มากไปกว่านั้น แม้สหราชอาณาจักรจะกระตือรือร้นในการมุ่งสู่แนวทางที่เป็นเอกภาพ แต่ก็ไม่พร้อมที่จะเสียสละเอกราชในทรัพย์สินที่มีอยู่

การแจกจ่ายผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพถือเป็นประเด็นร้อน ในการเจรจาเรื่องสนธิสัญญาโรคระบาด เนื่องจากประเทศยากจนมองว่าข้อกำหนดนี้เป็นเรื่องจำเป็นในการรับรองการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ขณะที่ประเทศร่ำรวยกว่ามองว่า ตนกำลังเสียสละอำนาจให้กับองค์กรระดับโลก

ประเด็นที่สำคัญของสนธิสัญญาฉบับนี้ได้แก่ ระบบแบ่งปันผลประโยชน์และการเข้าถึงเชื้อโรคของดับเบิลยูเอชโอ (พีแอลเอบีเอส) ซึ่งถูกเลื่อนออกไปถึงปี 2569 เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถตกลงกันได้ว่า จะบังคับการกระจายตัวอย่างของไวรัสและข้อมูลทางพันธุกรรมอย่างถูกกฎหมาย เพื่อวัตถุประสงค์ในการวิจัยได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าอาจมีแนวโน้มว่า การเจรจามาราธอนกว่า 2 สัปดาห์อาจล้มเหลว โดยเฉพาะในเนื้อหาที่ยังคงมีความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน เส้นตายในการลงนามข้อตกลงโรคระบาดจะมาถึงในวันที่ 10 พ.ค. และอนุสัญญาถูกกำหนดให้มีผลอย่างเป็นทางการในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ปลายเดือน พ.ค. นี้

ดร.แคลร์ เวนแฮม รองศาสตราจารย์ด้านนโยบายสุขภาพระดับโลก จากสถาบันเศรษฐศาสตร์ลอนดอน ระบุว่า “ผลของการเจรจายังไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่ชัด แต่ฉันไม่แปลกใจหากมีการทำข้อตกลงกันเบื้องหลัง ในประเทศรายได้น้อยและปานกลาง”

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นพ.เทดรอส แอดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ย้ำความหวังของเขาว่า การขาดแคลนวัคซีนจะสามารถแก้ไขได้เมื่อการเจรจาเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 “เราต้องสร้างอนาคตที่ปลอดภัยให้กับผู้คนบนโลก, ในประเทศ และผู้คนที่คุณเป็นตัวแทน” โดยเขาได้ย้ำว่านี่เป็นคำขอที่อยากทำให้สำเร็จเพื่อทุกคน

เมื่อเดือน พ.ค. 2564 นายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เคยประกาศว่า สนธิสัญญาดังกล่าวจะจัดทำเพื่อปรับปรุงระบบการแจ้งเตือน, การแบ่งปันข้อมูล, การวิจัย ตลอดจนการผลิตและแจกจ่ายการตอบสนองทางการแพทย์และสาธารณสุข เช่น วัคซีน, ยารักษาโรค, การวินิจฉัยโรค และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

เขากล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 เป็นการย้ำเตือนว่า จะไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย “ดังนั้น เราจึงมุ่งมั่นที่จะรับประกันการเข้าถึงวัคซีน ยารักษาโรค และการวินิจฉัยที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และราคาไม่แพง ให้เป็นสากลและเท่าเทียมกันสำหรับโรคระบาดในอนาคต”

แหล่งข่าวระบุเพิ่มเติมว่า การเจรจาในห้องประชุมยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่ความเต็มใจในการเข้าร่วมอนุสัญญานี้ในประเทศร่ำรวยค่อย ๆ ลดลง

โฆษกกระทรวงสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์อังกฤษ กล่าวว่า เขายังไม่สามารถแสดงความคิดเห็นในรายละเอียดของข้อเสนอที่เฉพาะเจาะจงได้ และยังไม่มีการตกลงในข้อเสนอใด ๆ “เราจะสนับสนุนการยอมรับข้อตกลง และยอมรับในนามของสหราชอาณาจักร หากข้อตกลงเป็นไปตามผลประโยชน์ของชาติ และเคารพในอำนาจอธิปไตย” เขากล่าวทิ้งท้าย.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES