เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ “เอไอ” นั้น มีทั้งประโยชน์และโทษ ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ใช้ และในตอนนี้ โปรแกรมเอไอบางโปรแกรมก็ได้กลายเป็นเครื่องมือที่มิจฉาชีพนำไปใช้ปลอมแปลงเสียงพูดทางโทรศัพท์ แล้วแอบอ้างว่าเป็นญาติมิตรของเหยื่อ เพื่อหลอกให้โอนเงินหรือบอกข้อมูลสำคัญทางการเงิน

การปลอมเสียงเหล่านี้ อาศัยข้อมูลจากคลิปเสียงที่มิจฉาชีพลอบบันทึกไฟล์คลิปวิดีโอของเหยื่อที่โพสต์ตามโซเชียลมีเดียต่าง ๆ นำมาสังเคราะห์ใหม่ให้คล้ายคลึงของเดิม 

ส่วนข้ออ้างยอดนิยมที่แก๊งคนร้ายใช้เวลาโทรฯ ไปหาเหยื่อก็คือ การแอบอ้างว่าเป็นญาติหรือคนในครอบครัวที่กำลังโดนคนร้ายจับตัวไป และถ้าหากไม่มีใครยอมจ่ายเงินค่าไถ่ตัวให้ ก็จะโดนทำร้าย

ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอระบุว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการแปลงเสียงด้วยเอไอเหล่านี้ ทำได้แนบเนียนมากจนแทบจะแยกไม่ออกว่าเป็นเสียงของเจ้าตัวจริง ๆ หรือเป็นเสียงที่ปลอมผ่านโปรแกรม 

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากนิตยสาร Scientific American แนะนำวิธีป้องกันภัยจากมิจฉาชีพเหล่านี้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยคัดกรองตัวปลอมออกไปได้ด้วยวิธีที่ง่ายดายอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งก็คือการตั้งรหัสลับคำพูดที่รู้กันในครอบครัว เหมือนกับที่พ่อแม่บอกรหัสลับให้ลูก ๆ เผื่อไว้ในกรณีมีผู้สวมรอยมารับตัวเด็กไปจากโรงเรียน

ฮานี ฟาริด ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ผู้ศึกษาและวิจัยคลิปเสียงแบบ “ดีพเฟค” จนเชี่ยวชาญชี้ว่า ในตอนนี้ ยังไม่มีวิธีการใด ๆ ในการแยกแยะว่าผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาหาเรานั้น เป็นตัวจริงหรือตัวปลอม ได้ดีไปกว่าการกำหนดรหัสลับเฉพาะในครอบครัว

ฟาริด แนะนำว่าสมาชิกในครอบครัวควรจะมีรหัสลับที่รู้กัน เพื่อใช้ตรวจสอบว่าอีกฝ่ายเป็นตัวจริงหรือไม่ อาจเป็นคำถามง่าย ๆ คล้ายลักษณะของคำถามกู้รหัสผ่านอีเมล เพื่อให้จำง่าย และควรเปลี่ยนรหัสเป็นครั้งคราว  

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังชี้จุดสังเกตโทรศัพท์ปลอมเสียงจากมิจฉาชีพว่า จะต้องมีการพูดขอเงินหรือเรียกร้องเงินทอง ตลอดจนเสียงบรรยากาศรอบข้างขณะพูดโทรศัพท์ของอีกฝ่ายจะมีลักษณะขาด ๆ หาย ๆ ไม่สม่ำเสมอ หรือไม่สอดคล้องกับบทสนทนา เพราะจุดอ่อนของโปรแกรมเอไอสังเคราะห์เสียงเหล่านี้ ยังไม่สามารถปรับแต่งเสียงที่อยู่รอบข้างให้แนบเนียนไปกับคำพูด

บริษัท Takepayments ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการรับโอนเงินและชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ ชี้ว่า ถ้าหากคนที่โทรศัพท์เข้ามาเริ่มพูดจาขัดแย้งกันเอง, ให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้วเกี่ยวกับบุคคลนั้น หรือเลี่ยงการตอบคำถามแบบตรงไปตรงมา แสดงว่ามีโอกาสสูงที่อีกฝ่ายจะเป็นมิจฉาชีพปลอมเสียงมา

นอกจากนี้ มิจฉาชีพส่วนใหญ่มักจะเรียกร้องให้จ่ายเป็นสกุลเงินคริปโต เช่น บิตคอยน์ หรือ อีเธอเรียม เนื่องจากจะติดตามร่องรอยของเงินดิจิทัลเหล่านี้ได้ยาก ว่ามีการโอนเงินไปให้ใครบ้าง 

ที่มา : nypost.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES