สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ว่าผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตดัดแปลงพันธุกรรมขณะมีชีวิตอยู่รายแรก เสียชีวิตแล้ว หลังผ่านการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมาได้ 2 เดือน

“โรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อการจากไปของนายริค สเลย์แมน โดยการจากไปของเขาไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นผลมาจากการปลูกถ่ายไตครั้งล่าสุดของเขา” โรงพยาบาลระบุในแถลงการณ์

เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ศัลยแพทย์ของโรงพยาบาลกลางแมสซาชูเซตส์ ประสบความสำเร็จ ในการปลูกถ่ายไตหมูตัดแต่งพันธุกรรมเป็นครั้งแรกของโลก ให้กับสเลย์แมน ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 62 ปี และป่วยเป็นโรคไตระยะสุดท้าย

โรงพยาบาลระบุเพิ่มเติมว่า “สเลย์แมนถูกมองว่า เป็นสัญญาณแห่งความหวังของผู้ป่วยอีกจำนวนมากทั่วโลก และเราขอขอบคุณอย่างสุดซึ้งสำหรับความไว้วางใจ และความเต็มใจของเขา ที่ได้ช่วยพัฒนาความก้าวหน้าในการปลูกถ่ายอวัยวะต่างสปีชีส์”

การขาดแคลนอวัยวะเป็นปัญหาเรื้อรังทั่วโลก และโรงพยาบาลเคยกล่าวเมื่อเดือน มี.ค. ว่ามีผู้ป่วยมากกว่า 1,400 ราย ในรายชื่อที่รอการปลูกถ่ายไต โดยไตหมูที่ใช้ในการปลูกถ่ายได้รับการจัดหาโดย “อีจีเนซิส” บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในรัฐแมสซาชูเซตส์ และได้รับการปรับแต่งโดยการเพิ่มยีนของมนุษย์ และกำจัดยีนของหมูที่เป็นอันตราย

ขณะนั้น สเลย์แมนเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 และความดันโลหิตสูง เขาเคยได้รับการปลูกถ่ายไตของมนุษย์เมื่อปี 2561 แต่ไตของเขาเริ่มล้มเหลวในอีก 5 ปีต่อมา

เมื่อโรงพยาบาลประกาศความสำเร็จในการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ สเลย์แมนกล่าวว่า เขาได้ตกลงเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าว “ไม่เพียงแต่จะเพื่อช่วยเหลือ (ตัวเขา) แต่เพื่อเป็นหนทางในการสร้างความหวังให้กับผู้คนหลายพันคน ที่ต้องการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อความอยู่รอดด้วย”

ขณะเดียวกัน ครอบครัวของเขาได้กล่าวว่า “พวกเราเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อการจากไปอย่างกะทันหันของริคอันเป็นที่รักของเรา แต่เราสบายใจอย่างยิ่งที่รู้ว่า เขาได้เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ป่วยอีกมากมาย” โดยครอบครัวรู้สึกวางใจกับความมองโลกในแง่ดีของริค ที่อยากจะมอบโอกาสให้ผู้ป่วยคนอื่น ๆ ที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะอย่างสิ้นหวัง

เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐ ระบุว่า เมื่อเดือน มี.ค. 2567 มีผู้ป่วยมากกว่า 89,000 ราย อยู่ในรายชื่อรอรับไตระดับชาติ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างรอการปลูกถ่ายโดยเฉลี่ย 17 รายในแต่ละวัน

ทั้งนี้ ครอบครัวสเลย์แมนกล่าวขอบคุณแพทย์ ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้ริคได้รับโอกาสที่สอง ความพยายามมหาศาลของแพทย์ทำให้ครอบครัวได้อยู่กับเขาอีก 7 สัปดาห์ และความทรงจำที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น จะคงอยู่ในความคิดและหัวใจของทุกคน

“หลังการปลูกถ่าย ริคกล่าวว่าหนึ่งในเหตุผลที่เขาเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ ก็เพื่อให้ความหวังแก่ผู้คนหลายพันคน ซึ่งต้องการปลูกถ่ายเพื่อความอยู่รอด” ครอบครัวกล่าวเสริม “มรดกของเขาจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ป่วย, นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ”

การปลูกถ่ายอวัยวะจากสปีชีส์หนึ่งไปยังอีกสปีชีส์ เป็นอีกหนึ่งแนวทางการรักษาที่กำลังเติบโต มีชื่อเรียกว่า “ซีโนทรานสแพลนท์เทชั่น”

นอกจากนั้น ประมาณ 1 เดือน หลังจากการปลูกถ่ายของสเลย์แมน ศัลยแพทย์จากเอ็นวายยู แลงโกน เฮลท์ ในนครนิวยอร์ก ได้ทำการปลูกถ่ายที่คล้ายกันให้กับนางลิซา พิซาโน ซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจล้มเหลวและโรคไตระยะสุดท้าย

ก่อนหน้านี้ ไตหมูที่เคยได้รับการปลูกถ่ายถูกทำในผู้ป่วยที่สมองตาย สเลย์แมนจึงเป็นผู้ป่วยรายแรกที่มีชีวิตขณะได้รับไตจากหมู นอกจากไตแล้ว หัวใจหมูดัดแปลงพันธุกรรมเคยถูกนำมาปลูกถ่ายเมื่อปี 2565 ให้กับผู้ป่วย 2 ราย ที่มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ แต่ทั้งคู่มีชีวิตอยู่ได้ไม่ถึง 2 เดือน

โรงพยาบาลอธิบายเพิ่มเติมว่า การปลูกถ่ายของสเลย์แมนถูกดำเนินการภายใต้นโยบาย “ความเห็นอกเห็นใจ” ซึ่งอนุญาตให้ผู้ป่วยที่มีอาการร้ายแรงหรือเป็นอันตรายถึงชีวิต สามารถเข้าถึงการรักษาด้วยการทดลอง ซึ่งยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (ยูเอสเอฟดีเอ).

เครดิตภาพ : AFP