พริกไทยกำปอต ซึ่งเป็นที่รู้จักจากรสชาติที่เข้มข้น ได้รับการยกย่องจากเชฟชั้นนำทั่วโลก และสามารถขายได้ในราคาสูงถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัม (ราว 7,254 บาท)

แม้อุตสาหกรรมพริกไทยของกัมพูชา ได้รับการรักษาจากรุ่นสู่รุ่นใน 2 จังหวัดทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ และรอดพ้นจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุครัฐบาลเขมรแดง กับความไม่มั่นคงนานหลายสิบปี แต่ในปัจจุบันสภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ คือภัยคุกคามที่อุตสาหกรรมเผชิญอยู่

“ปีนี้อากาศร้อนมาก ไม่มีฝนตก และเราไม่มีน้ำสำหรับรดน้ำต้นพริกไทย ดังนั้นพวกมันจึงเหี่ยวตายทั้งหมด” แหลม กล่าว

อนึ่ง ภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งอากาศที่ร้อนระอุ ส่งผลให้รัฐบาลในหลายประเทศสั่งปิดโรงเรียน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในหลายพื้นที่ของกัมพูชา อุณหภูมิที่พุ่งสูงเกือบ 43 องศาเซลเซียส ในช่วงปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา หลังเกิดภัยแล้งนาน 6 เดือน ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทนได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ การผลิตพริกไทยกำปอต เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยได้รับแรงหนุนจากสหภาพยุโรป (อียู) ที่กำหนดให้เครื่องเทศดังกล่าวเป็น “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ได้รับการคุ้มครอง (พีจีไอ) เมื่อปี 2559 ซึ่งจังหวัดกำปอต ผลิตพริกไทยได้ประมาณ 120 ตันในปี 2566 แต่กลุ่มเกษตรกรกล่าวว่า ความร้อนและฝนที่รุนแรงเกินไป ทำให้ผลผลิตในปีนี้อยู่ในระดับเลวร้ายสุดเป็นประวัติการณ์

เมื่อปีที่แล้ว แหลมทำเงินจากฟาร์มของเขาได้ประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 36,300 บาท) แต่เขาคาดว่าจะสูญเสียรายได้มหาศาลในปีนี้ ซึ่งเขาเสียใจมาก และไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ขณะที่นายหงวน เลย์ เกษตรกรวัย 71 ปี คาดการณ์ว่าเขาจะไม่สามารถเก็บเกี่ยวอะไรได้เลยในปีนี้ จากเดิมที่เก็บเกี่ยวพริกไทยกำปอตราว 9 ตัน จากฟาร์มขนาด 5 เฮกตาร์ ในปีที่แล้ว

“ปีนี้พวกเราเผชิญกับอุปสรรคใหญ่ที่สุด และมันเป็นปีที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งเราไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เพราะพวกเราเห็นปัญหามากมาย แต่ไม่สามารถแก้ไขมันได้เลย” เลย์ กล่าวเพิ่มเติม

เช่นเดียวกับเกษตรกรรายอื่น เลย์รู้ว่าปัญหาต่าง ๆ มาจากสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้พวกเขามีการเตรียมความพร้อม ทั้งเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ, กักเก็บน้ำ หรือแม้แต่สร้างหลังคาเพื่อปกป้องพริกไทยกำปอตจากอากาศร้อน แต่สิ่งเหล่านั้นก็ยังไม่เพียงพอ

ด้านนายคานน์ สินุช ประธานสมาคมส่งเสริมพริกไทยกำปอต กล่าวว่า เขาคาดว่าผลผลิตพริกไทยในปีนี้ จะลดลงครึ่งหนึ่ง พร้อมกับเตือนถึงปัญหาการขาดแคลนสินค้าส่งออก ในปี 2568 เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกษตรกรจำนวนมาก ไม่สามารถขยายฟาร์มของพวกเขาได้ และต้องพยายามรักษาพืชผลที่เหลืออยู่ให้มีชีวิตรอดต่อไป.