นิทรรศการที่รวบรวมนำผลงานศิลปนิพนธ์ของนิสิต นักศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ชั้นปีสุดท้ายของปีการศึกษา 2566 จากสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนด้านศิลปะทั่วประเทศ จัดแสดงร่วมกัน โดยแสดงต่อเนื่องถึง 27 มิถุนายน 2567 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

จากผลงานสร้างสรรค์กว่าหนึ่งร้อยผลงาน ทั้งประเภทจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ งานจัดวาง และงานมัลติมีเดียฯลฯ ในผลงานศิลปนิพนธ์ส่วนหนึ่งที่สื่อสารประเด็นความยั่งยืน สะท้อนปัญหาขยะ การจัดการ โดยชวนตระหนัก ทบทวน และลงมือทำเพื่อการเปลี่ยนแปลง พาชมแนวคิดมุมมองสร้างสรรค์ DNA รุ่นใหม่ ร่วมเซฟโลก

ประติมากรรมสื่อผสม แปรผันตามพื้นที่ “ชีวิตและความตายที่งดงามในการเปลี่ยนแปลง” โดย ภูมิวณัฐ โตนพคุณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เจ้าของผลงานนำเปลือกหอยที่ตายแทนความหมายของสิ่งมีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ เปลี่ยนกายภาพด้วยการบด สร้างเป็นรูปทรงไลเคนที่เจริญเติบโตอยู่กับรากไม้ ก้อนหิน และจากสิ่งปลูกสร้างที่เคยเป็นตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ในอดีต แฝงนัยความงาม อารมณ์ความรู้สึก และบรรยากาศความแห้งแล้งและการไร้ชีวิต ฯลฯ

“มนุษย์และสังคมบริโภคนิยม” โดย อับดุลอาลีม สุหลง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี งานสื่อผสมที่มีแรงบันดาลใจจากปัญหาขยะสะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลทั่วโลก จึงรวบรวมขยะตามพื้นที่ต่าง ๆ มาสร้างสรรค์เสนอผ่านรูปลักษณ์ของลำไส้ แทนความหมายการบริโภค ทั้งตั้งคำถามในเรื่องของปัญหาขยะและการตระหนักถึงภัยจากมนุษย์ภายใต้กรอบแนวคิดของสังคมบริโภคนิยม

ขณะที่ผลงาน “ไม้กวาดขยะ” การประกอบต่อวัสดุ โดยนาซาอี บินเจ๊ะแม จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเช่นกันนำประสบการณ์ที่ลงพื้นที่ชายหาดซึ่งมีขยะที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและทัศนียภาพ นำมาเป็นแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงาน โดยใช้รูปทรงของไม้กวาดเป็นสัญลักษณ์ นำเสนอการสร้างจิตสำนึกให้ดีขึ้นเพื่อสะท้อนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

“ทะเลผู้ถูกกระทำ” ผลงานสื่อผสม โดย ณัฐนันท์ จันเต็มมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่สื่อความงามของท้องทะเล แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งอาหารของมนุษย์ ปัจจุบันทะเลถูกกระทำจากมนุษย์ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์ในทะเล มนุษย์ต้องตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหา และช่วยกันรักษาทรัพยากรทางทะเล ไม่สร้างมลพิษ เพื่อธรรมชาติสวยงามนี้จะคงอยู่ตลอดไป

นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายผลงานศิลปนิพนธ์ที่ร่วมบอกเล่า ชวนตระหนักและเปลี่ยนแปลงร่วมสร้างความยั่งยืน เช่นเดียวกับ “กระดูกจากขยะ” ศิลปะจัดวาง โดย ฐาปนิตตา ตาลโหยง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือซึ่งนำแนวคิดจากปัญหาขยะทางทะเล จากการกระทำของมนุษย์ซึ่งส่งผลถึงชีวิตของสัตว์ทะเลและระบบนิเวศ จึงนำมาออกแบบเป็นโครงกระดูกวาฬ นำขยะที่ทิ้งตามชายหาดและครัวเรือนมาสร้างเป็นชิ้นงาน เพื่อสะท้อนให้ตระหนักถึงปัญหาและนำขยะกลับมาสร้างคุณค่าผ่านงานศิลปะ.