มื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดการประชุม Kick-off การจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับที่ 2 (NDC2035) หรือเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2574 – 2578 เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงความสำคัญและแนวคิดในการกำหนดเป้าหมาย รวมถึงแนวทางการจัดทำมาตรการต่างๆ ที่จะขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้ง ออนไซต์ และ ออนไลน์จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ประชาสังคม หน่วยงานในระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพมหานคร รวมกว่า 880 คน

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และความตกลงปารีส (Paris Agreement) ต้องจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDC) อย่างต่อเนื่องทุก ๆ 5 ปี โดยประเทศไทยได้จัดส่ง NDC ฉบับที่ 1 (NDC2030) โดยยกระดับการลด ก๊าซเรือนกระจก 30-40% จากกรณีปกติ (BAU) เพื่อให้สอดคล้องกับ 1.5 องศาเซลเซียส pathway และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย (LT-LEDs) ซึ่งมีเป้าหมายความเป็นกลาง ทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065

ดร.พิรุณ กล่าวว่า สำหรับ NDC ฉบับที่ 2 (NDC2035) ที่จะต้องส่งภายในปี พ.ศ. 2568 จะต้องคำนึงถึงผลการดำเนินการที่ผ่านมา ผลการทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake: GST) เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ศักยภาพของประเทศไทยทั้งที่ดำเนินการเองและต้องได้รับการสนับสนุนระหว่างประเทศ โดยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมร่วมด้วย ทั้งนี้ NDC2035 จะเป็นตัวกำหนดรูปแบบการพัฒนาของประเทศที่เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ และยังคงไว้หรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในทุกมิติ

ดร.พิรุณ กล่าวว่าสาเหตุที่โลกร้อนขึ้นเพราะเกิดจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกที่ตกค้างมา 174 ปี ถือว่าเป็นเรื่องยากที่จะลดอุณหภูมิของโลก โลกจึงมีเป้าหมายลดอุณหภูมิของโลก 1.5 องศาเซลเซียล แต่วันนี้อุณหภูมิความร้อนของโลกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.2 องศาเมื่อเทียบกับปีค.ศ.2019 แต่ไม่สามารถลดอุณภูมิอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการปรับตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในปีหน้า กรมฯจะเร่งทำแผนปฏิบัติการการปรับตัว ร่วมกับ 6 หน่วยงานหลักของประเทศไทย อาทิด้านสาธารณสุขมีกรมอนามัยเป็นเจ้าภาพ ด้านการท่องเที่ยว สำนักปลัดการท่องเที่ยว ด้านการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ กรมโยธาธิการผังเมืองและกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อทำให้ประชาชนมีขีดความสามารถที่จะรองรับผลกระทบจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นและส่งกระทบมากขึ้น