เมื่อวันที่ 24 พ.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเปิดงานการพัฒนากรุงเทพมหานครและย่านเก่าเขตสัมพันธวงศ์ “เวทีทบทวน วิสัยทัศน์เขตสัมพันธวงศ์ ครั้งที่ 1” ว่า ทำงานมาแล้ว 2 ปี อนาคต 2 ปีที่เหลือ มีเป้าหมายการพัฒนาเมืองชั้นใน ที่จะให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนขึ้น ทั้งในแง่ของวิถีชีวิตคน เป็นเมืองที่น่าอยู่ มีความสมดุลกันระหว่างชุมชน กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ ให้ทุกคนอยู่ได้อย่างมีความสุข ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะได้มาวิเคราะห์ พูดคุยกัน เพราะต้องเริ่มจากจินตนาการของคนที่อยู่ข้างในก่อน ไม่อยากให้คนที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่มาวางแผน เพราะสุดท้ายแล้วจะไม่ใช่เป็นจิตวิญญาณของเขต

ตัวอย่างที่ดีก็คือ ย่านทรงวาด ชุมชนรวมตัวกันแล้วพัฒนาให้เป็นย่านที่ดูดี เป็นย่านระดับโลกได้ งานครั้งนี้จะเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่จะกําหนดให้ทิศทาง และเชื่อว่าการปรับปรุงย่านๆ หนึ่ง คงไม่ได้ใช้งบประมาณมากมาย เป็นเรื่องการพัฒนา การบริหารจัดการ การใส่ใจในรายละเอียด สุดท้ายแล้วหากชุมชนเข้มแข็ง ก็จะพัฒนาย่านให้เข้มแข็งขึ้นมาได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องฟังประชาชนเยอะๆ ว่าต้องการยังไง

“เราไม่ได้คิดว่าการสร้างถาวรวัตถุหรือว่าการทำโครงการใหญ่ๆ ได้เยอะ จะทำให้ย่านมีคุณภาพ เราเชื่อว่า ย่านที่มีคุณภาพคือย่านที่มีจิตวิญญาณและมีความร่วมมือต่อกัน” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

กทม. โดยสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ ร่วมกับ บจ. ปั้นเมือง ดำเนินโครงการ “ฟื้นฟูย่านเก่าให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย” ภายใด้ความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเพื่อร่วมแสดงความคิดเห็น ในการปรับปรุงวิสัยทัศน์ของเขตสัมพันธวงศ์ที่มาจากโครงการ “อนุรักษ์พื้นฟูย่านตลาดน้อยและพื้นที่ต่อเนื่อง” ภายใต้การศึกษาของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2558 ให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถใช้เป็นกรอบแนวคิดการฟื้นฟูและพัฒนาเขตสัมพันธวงศ์ร่วมกันของภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง โดยเชิญตัวแทนชุมชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 150 คน ร่วมประชุม

ทั้งนี้ จะมีเวทีประชุมครั้งที่ 2 ในวันที่ 18 ก.ค. 67 ครั้งที่ 3 วันที่ 20 ก.ย. 67 และการประชุมกลุ่มย่อยกับชุมชนพื้นที่ตลอดปีนี้ เพื่อให้เกิดร่างวิสัยทัศน์เขตสัมพันธวงศ์ แผนปฏิบัติ (Action Plan) ที่ชัดเจน เพื่อเป็นทิศทางในการขับเคลื่อนและดำเนินงานสู่จุดหมายเดียวกันของทุกภาคส่วนต่อไป.