เมื่อวันที่ 26 พ.ค. นายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การเข้ามาถือครองที่ดิน และประกอบธุรกิจวิลล่าให้เช่าของชาวต่างชาติ ในพื้นที่เกาะสมุย เริ่มมีมาตั้งแต่ประมาณปี 2560 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และถือโอกาสในช่วงของโรคระบาดเร่งก่อสร้างอาคารวิลล่าหรู บนยอดเขาสูงทั้งในพื้นที่โซนสีแดงและสีเหลือง จนเมื่อสถานการณ์ของโรคระบาดคลี่คลาย ก็จัดให้นักท่องเที่ยวเข้าพัก ซึ่งจากข้อมูลพบว่าพื้นที่อำเภอเกาะสมุย มีโรงแรมที่พักที่จดทะเบียนถูกต้องจำนวน 634 แห่ง มีห้องพักประมาณ 20,000 ห้อง แต่รายงานผู้เข้าพักตามข้อมูลของตรวจคนเข้าเมือง กลับมีข้อมูลว่าเกาะสมุย มีห้องพักประมาณ 30,000 ห้อง ส่วนต่างจำนวน 10,000 ห้องนี้ เราเชื่อว่ามาจากประเภทวิลล่าให้เช่า ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนยอดเขาและวิลล่าให้เช่าเหล่านั้นไม่ได้มีการจดทะเบียนโรงแรมที่ถูกต้อง ประเด็นสำคัญก็คือ ผู้ประกอบการโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องมีหน้าที่ต้องนำส่งค่าธรรมเนียมบำรุงองค์การบริหารส่วนจังหวัดจากผู้พักในโรงแรม หรือภาษีโรงแรมให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในอัตราร้อยละ 1 ของราคาห้องพัก ซึ่งจากการประกอบธุรกิจในลักษณะของวิลล่าให้เช่าเข้าข่ายเป็นโรงแรมที่พัก แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นโรงแรมที่พัก ทำให้เขาไม่ต้องจ่ายภาษีส่วนนี้ ซึ่งคาดว่าเราจะสูญเสียรายได้ปีละกว่า 100 ล้านบาท เพราะเป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่า ราคาที่พักของวิลล่าหรูบนเกาะสมุยมีราคาเริ่มต้นคืนละ 10,000 บาทขึ้นไป

นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี กล่าวด้วยว่า นี่เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยที่เราขาดผลประโยชน์จากการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติที่ใช้นอมินีชาวไทย ยังไม่รวมภาษีสรรพากรหรือภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เราเชื่อว่าผู้ประกอบการชาวต่างชาติเหล่านั้นเขาก็คงอยากทำตามขั้นตอนของกฎหมาย แต่เผอิญกลับมีคนของประเทศเราเองที่เข้าไปมีส่วนช่วยเหลือ แนะนำให้เค้าเลี่ยงกฎหมายแล้วนำผลประโยชน์ส่วนนั้นเข้าตนเอง ตนเห็นด้วยที่ กอ.รมน.ภาค 4 รับเป็นตัวกลางเข้ามาบังคับให้ผู้เกี่ยวข้องใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมาเพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติ  รวมถึงหาแนวทางแก้ไขไม่ให้ปัญหาซ้ำซากและบานปลาย ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของเราเอง 

ข่าวรายงานว่าจากการเข้าตรวจสอบและเก็บข้อมูลของ คณะทำงานบูรณาการร่วมตรวจสอบการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี หรือ สมุยโมเดล เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา มีเอกสารใบอนุญาตที่น่าสนใจ คือ การอนุญาตให้วิลล่าทั้ง 2 แห่ง เป็นสถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามเทศบัญญัติว่าด้วยการควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทสระว่ายน้ำ ซึ่งวิลล่าทั้ง 2 แห่งอ้างว่า ผู้ที่ดำเนินการขอใบอนุญาตแจ้งว่า เป็นใบอนุญาตที่เข้าข่ายกิจการโรงแรม ทำให้เชื่อมาตลอดว่าวิลล่าที่พักของตนมีใบอนุญาตถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ในการเข้าตรวจเก็บหลักฐานยังพบเอกสาร บันทึกการตรวจสอบโรงแรม/วิลล่า/บ้านพักตากอากาศ ในเขตป่าไม้ที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมป่าไม้โดยหน่วยงานป่าไม้แห่งหนึ่งซึ่งหนังสือฉบับดังกล่าวไม่ได้มีการระบุวันที่และเดือน มีเพียงระบุ พ.ศ. 2562 เท่านั้น แจ้งว่าพื้นที่บริเวณที่ตั้งของวิลล่าอยู่ในเขตป่าไม้ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และมีการระบุข้อความให้ผู้ถือครองสิ่งปลูกสร้าง นำเอกสารที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง แต่จากการสอบถามของคณะทำงานฯ ผู้ครอบครองพื้นที่ไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดได้

ข่าวรายงานด้วยว่าส่วนประเด็นการตรวจสอบเกี่ยวกับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนิติบุคคลในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่ผู้รับจดแจ้ง ยอมรับว่าในพื้นที่ อ.เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า มีการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนิติบุคคลซึ่งมีชาวต่างชาติผู้ถือหุ้นอัตราร้อยละ 49  เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแต่เพียงผู้เดียวเป็นจำนวนมาก และการยื่นขอจดทะเบียนนั้นทั้งหมดเป็นการดำเนินการโดยสำนักกฎหมายและบัญชี ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่อง ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นไปตามเงื่อนไขของการจัดตั้งบริษัทนิติบุคคลก็ต้องอนุญาต แม้จะมีการตรวจพบความผิดปกติก็ตาม เราทำได้เพียงขึ้นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่เป็นชาวไทยที่ต้องสงสัยว่าเป็นการใช้ ตัวแทนอำพราง หรือ นอมินี