วันนี้ (29 พ.ค. 67) เวลา 13.30 น. ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดโครงการอบรมหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ (ภาคพิเศษ (กระทรวงมหาดไทย)) พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง “นักกฎหมายกับการบริหารราชการแผ่นดิน” โดยได้รับเกียรติจาก นางสมาพร นิลประพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานักกฎหมายมหาชน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมเป็นวิทยากร โดยมี นายราชันย์ ซุ้นหั้ว รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายมานะ สิมมา ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูรย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายสุวิทย์ เถื่อนน้อย ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง นายยงยุทธ ชื้นประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นางแม้นเขียน เชาว์ศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมที่ดิน นายสมาน พั่วโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 38 คน ร่วมอบรม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ได้เมตตากรุณาจับมือกับพวกเราชาวมหาดไทยเพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนงานการพัฒนาบุคลากรด้านกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย ตามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ จึงเป็นที่มาทำให้เกิดหลักสูตรการอบรมนักกฎหมาย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนงานด้านกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยสามารถไปต่อยอดขยายผลในการทำหน้าที่ ตลอดจนนำประสบการณ์ที่ได้จากการอบรมไปพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญให้กับตนเอง นำไปสู่การปฏิบัติงาน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และนำองค์ความรู้ไปช่วยสนับสนุนงานให้กับผู้นำของกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอ เพื่อให้เกิดการ “Change for Good” ให้กับประเทศชาติของเรา ชีวิตของเราชาวมหาดไทยทำงานสารพัดอย่าง เป็นเหมือนแก้วสารพัดนึกของประชาชน เพราะทุกเรื่อง ทุกภารกิจของทุกกระทรวงในระดับพื้นที่ ต่างก็เป็นงานของผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นงานของนายอำเภอ ตามที่กฎหมายเฉพาะเรื่องนั้น ๆ ได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งบรรพบุรุษของเราชาวมหาดไทยได้เปรียบเปรยชีวิตของคนมหาดไทยเราไว้ว่าเปรียบเสมือน “หนุมานอาสา”

“เพราะเราทำงานทุกงานเพื่อให้ชนะศึก เหมือนดั่งตัวละคร “หนุมาน” ในวรรณคดีไทย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนนข้ามทะเล การเอายาถอนพิษให้กับกษัตริย์ การส่งสารให้กับนางสีดา เช่นเดียวกับงานของเราที่มีมากมายหลายด้านที่ต้องแลกด้วยความเสียสละเวลาส่วนตัว เพื่อทำให้งานส่วนรวมประสบผลสำเร็จ และเราทุกคนต้องภูมิใจว่า ที่พวกเราต้องทำงานอย่างหนัก อย่างมากมาย ไม่หยุดหย่อน ก็เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดเปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีประจำจังหวัด ที่พวกเราในฐานะลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องทำงานทุกงานและทุกเรื่อง เป็นไม้เป็นมือให้กับผู้บังคับบัญชาของเรา ซึ่งการทำงานอย่างหนักของผู้ว่าฯ อาจจะทำให้เราคิดได้ว่า เปรียบผู้ว่าเหมือนเป็นคนมีกรรม แต่เราก็ยังมีบุญที่ได้ทำงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำสิ่งที่ดีเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนตกทุกข์ได้ยาก เรามีบุญที่มีงานที่มั่นคง มีเงินเดือน ได้รับการยอมรับ และได้ช่วยเหลือผู้คนในสังคมจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นชีวิตของคนมหาดไทย เพราะชีวิตของพวกเรามีความผูกพันเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ตลอดจนเกี่ยวข้องกับผู้ที่ต้องใช้บริการภาครัฐ” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า หากเราทุกคนมีใจรักที่จะเป็น “กระโถนท้องพระโรง” หรือเป็น “หนุมานอาสา” ทำงานสารพัดเรื่องสารพัดอย่าง ทำตามอุดมการณ์และเป้าหมายที่จะเติบโตไปดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงเพื่อจะได้รับผิดชอบงานเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ก็จะทำให้เรามีกำลังกายและกำลังใจที่จะทำประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดของกระบวนการทำงาน คือ “คน” ดังที่ ดร.อินาโมริ คาซึโอะ ผู้ก่อตั้งบริษัท Kyocera ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน องค์กรจะดีต้องมีคนที่มี Attitude ที่ดี แม้ว่าคนจะมีความสามารถไม่มาก แต่หากมี Passion ก็จะผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดสิ่งที่ดี ในส่วนของความรู้ความสามารถเราสามารถไปหาผู้ที่มีมาเป็นทีมภาคีเครือข่ายได้ ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของพวกเรา คือ “ประชาชนต้องมีความสุขอย่างยั่งยืน” คนมหาดไทยจึงต้องมีใจทำงาน มีความเสียสละ ประดุจเทียนไขละลายตนให้ความสว่างกับชาวโลก ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชน ตามหลักการทำงานที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ประทานคำสอนไว้ว่า “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” การพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อยกระดับองค์ความรู้ในภารกิจหน้าที่จึงมีความสำคัญ ดังนั้น ผู้เข้ารับการอบรมทุกท่านจึงต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ฟัง คิด เขียน อ่าน เพื่อจะเป็นคนที่มีหัวใจนักปราชญ์ “สุ จิ ปุ ลิ” ทุกคนที่อยู่ที่แห่งนี้นับเป็นผู้โชคดีที่ได้รับการอบรมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลพี่น้องประชาชนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงขอให้พวกเรามุ่งมั่นตั้งใจนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ คำนึงถึงหลักการทำงานที่สำคัญ คือ

“การทำงานให้ประชาชนต้องไม่บกพร่อง” อันหมายความว่า ต้องมีการทำงานแบบ R-E-R คือ “R-Routine Job” งานประจำ ด้วยการหมั่นศึกษา ค้นคว้า หารือ ข้อกฎหมาย ฎีกา กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ประสบการณ์ และองค์ความรู้งานในหน้าที่ให้เต็มเปี่ยม ติดอาวุธทางความรู้เพื่อให้มีความสามารถอย่างเต็มประสิทธิภาพ ถัดมา คือ “E-Extra Job” งานพิเศษ คนมหาดไทยต้องมีน้ำใจ ทำงานทุกงานของทุกกระทรวง เพราะผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเป็นนายกรัฐมนตรีของพื้นที่ ดังนั้นงานพิเศษของเราคือ “น้ำใจ” ตลอดจนถึงการต่อยอดสร้างสรรค์งานของเราให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่จะตอบสนองตอบการทำงานให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งต้องอาศัยคนที่มี Attitude และ Passion มีความคิด มีใจและไม่นิ่งดูดายอยากจะแก้ปัญหาให้กับองค์กรและสังคม จึงจะทำให้เราเป็นคนพิเศษขององค์กร และ “R- Report” การรายงานผล เพื่อนำไปสู่แนวทางพัฒนา โดยหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี คือ การทำให้ผู้บังคับบัญชาทำในสิ่งที่ดีที่เราอยากทำ หากทุกคนช่วยกันก็จะมีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่การรายงานข้อมูลที่สำคัญ ทั้งต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) คือ พี่น้องประชาชน จึงจะก่อให้เกิดความศรัทธานำมาซึ่งความร่วมมือในการทำสิ่งที่ดีให้เกิดผลสำเร็จและเกิดประโยชน์สุขต่อพี่น้องประชาชนส่วนรวม” นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า การฝึกอบรมในครั้งนี้จะเป็นกรอบและความรู้พื้นฐานที่จะทำให้เราปฏิบัติหน้าที่นักกฎหมายได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญทั้งหมดจะทำให้ R-E-R เกิดผลสำเร็จที่ดีได้ “เราต้องมีพื้นฐานที่ดี” และถึงแม้ว่าที่ผ่านมาทุกคนมีพื้นฐานการเรียนที่ดีอยู่แล้ว แต่แค่การเรียนนั้นไม่เพียงพอ เราต้องฝึกฝน เรียนรู้ และปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ในปัจจุบันอยู่เสมอ ต้องไม่หยุดนิ่งต้อง warm up ตัวเองให้พร้อมอยู่ในสนามรบตลอดเวลา และสิ่งสำคัญในหน้าที่ราชการคือ “การรักษาความเป็นธรรมให้กับประชาชนทุกคน” ซึ่งต้องครอบคลุมทั้งเรื่องกฎหมาย ระเบียบ ที่มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องปรับตัว ต้องใฝ่เรียนรู้อยู่เสมอ และขอขอบคุณ น้อง ๆ ทุกคนที่ช่วยรักษาอุดมการณ์ชาวมหาดไทยในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นคงและมีความสุข มีความเป็นธรรมเกิดขึ้นในสังคม นำเอาองค์ความรู้ด้านกฎหมายมาต่อยอดช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ สนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

นายยงยุทธ กล่าวว่า โครงการฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ (ภาคพิเศษ (กระทรวงมหาดไทย)) ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม-15 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมทั้งสิ้น 38 คน โดยในการฝึกอบรม จะมีการบรรยายให้ความรู้ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ โดยวิทยากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านกฎหมายภาครัฐ การฝึกภาคปฏิบัติ และการจัดทำโครงงานพัฒนากฎหมาย อันเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการอบรมหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ (ภาคพิเศษ (กระทรวงมหาดไทย)) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567

“การฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ (ภาคพิเศษ (กระทรวงมหาดไทย)) ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นิติกร ระดับปฏิบัติการ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่สำคัญต่อการพัฒนากฎหมายให้ดีขึ้นเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน มีความรู้พื้นฐานในด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เสริมสร้างและรักษาให้นิติกรมีทัศนคติที่ดี และมีทักษะที่จำเป็นที่ใช้ในการปฏิบัติงาน รวมทั้งเพื่อเพิ่มพูนความคิดสร้างสรรค์ในการปฏิบัติงาน ตลอดจนสามารถทำงานร่วมกับผู้มีความรู้ในศาสตร์และศิลป์แขนงอื่นที่แตกต่างได้อย่างเข้าใจ นอกจากนี้ หลักสูตรดังกล่าวยังสามารถใช้ประกอบการยื่นขอรับเงินเพิ่ม พ.ต.ก. สำหรับ ตำแหน่งนิติกรตามประกาศ ก.พ. เรื่อง กำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2552” นายยงยุทธ กล่าวเพิ่มเติม