เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2567 ที่โรงแรมโฟร์พอยท์ บาย เชอราตัน กรุงเทพฯ นายทศพร นิลกำแหง นายกสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา พร้อมด้วยผู้บริหารและสมาชิกของสมาคมฯ รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจพืชกัญชงและกัญชา จัดเวทีแถลงข่าวเพื่อวอนให้รัฐทบทวนการดึงกัญชงและกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดใหม่ หวั่นกระทบห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมนี้ และกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน จนทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ

ทศพร นิลกำแหง นายกสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา

นายทศพร นิลกำแหง นายกสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบันว่า จากสภาวะสูญญากาศที่เกิดขึ้นขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนไปแล้วมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ทางสมาคมฯ จึงอยากให้รัฐทบทวนนโยบายและหาทางออกร่วมกันเรื่องนี้ เพื่อให้พืชกัญชงและกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยสมาคมฯ มีข้อเสนอให้ภาครัฐออกกฎหมายควบคุมที่ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการนําไปใช้ได้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ในด้านการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ ซึ่งการที่สมาคมฯ และผู้ประกอบการได้มาร่วมตัวกันเพื่อจัดแถลงเรื่องนี้ มิได้ต้องการต่อต้านหรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับกระแสสังคม แต่อยากขอให้เห็นใจฝั่งผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาลงทุนตามคำเชิญชวนของรัฐบาล และได้ทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบทุกอย่างที่ภาครัฐเป็นผู้กำหนดออกมาแล้ว แต่จู่ ๆ เมื่อภาครัฐมีการเปลี่ยนท่าที จึงทำให้เกิดความวิตกกังวลอย่างมากในกลุ่มผู้ประกอบการ เนื่องจากการลงทุนสร้างโรงงานแต่ละแห่งนั้นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก

ดังนั้น การแถลงข่าววันนี้จึงไม่เพียงเป็นการแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ แต่ยังต้องการสื่อสารและให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับสังคม เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยความไม่ชัดเจนกับสภาวะสูญญากาศที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลกระทในด้านต่าง ๆ อาทิ กรณีที่จะนําพืชกัญชงและกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง กรณีนี้จะทําให้ผู้ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมขาดความเชื่อมั่นต่อนโยบายเชิญชวนการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐในอนาคต เพราะหลังจากที่ภาครัฐได้ประกาศนโยบายส่งเสริมให้พืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ เมื่อปี 2563 ก็ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่า พืชกัญชงจะสามารถนําไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพได้ อีกทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้มหาศาล ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนนโยบายกลางคันทันทีเช่นนี้ ย่อมจะส่งผลเสียต่อผู้ที่ยื่นขออนุญาตกว่า 1 ล้านราย และส่งผลให้เม็ดเงินที่หมุนเวียนในอุตสาหกรรมนี้ตอยู่ในสภาพชะงักงัน ที่ไม่เพียงส่งผลต่อผู้ประกอบการ แต่ยังกระทบไปถึงภาคแรงงาน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมนี้อีกด้วย

“ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นกับทางกรมการปกครองเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 26 บริษัท โดยทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการธุรกิจกัญชงและกัญชา ทั้งต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า ที่นําสารสกัด CBD จากพืชกัญชง ที่มีสาร THC ตํ่ากว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงชิ้นส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชงไปใช้เพื่อทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ โดยสารสกัด CBD จากพืชกัญชงมีประโยชน์และยังมีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจ เมื่อนําไปใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ แต่ถ้าหากผู้ประกอบการไม่สามารถทําผลิตภัณฑ์เพื่อออกจําหน่ายสู่ตลาดได้ อันเนื่องมาจากนโยบายภาครัฐ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ประกอบการที่ได้ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ไว้แล้วกว่า 700 รายการ แต่เหนืออื่นใด การที่ภาครัฐไม่ทำให้เรื่องนี้ชัดเจนโดยเร็วระยะยาวอาจกระทบไปถึงโครงการอื่น ๆ ของรัฐในอนาคต เนื่องจากนักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นไปแล้ว” นายทศพร กล่าว

ยิ่งยศ จารุบุษปายน อุปนายกสมาคมสหอุตสาหกรรมพืชกัญชงและกัญชา

ขณะที่ นายยิ่งยศ จารุบุษปายน อุปนายกสมาคมฯ กล่าวเสริมว่า เพื่อให้ปัญหานี้มีทางออก สมาคมฯ จึงมีข้อคิดเห็นผ่านแนวทางต่าง ๆ ดังนี้ แนวทางที่ 1 สนับสนุนให้มีการออก พรบ. หรือกฎหมายเพื่อบังคับใช้ และมีบทลงโทษที่เข้มงวดชัดเจนสําหรับผู้ที่นําพืชกัญชงและกัญชา รวมถึงสารสกัดที่มีสาร THC สูงกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งมีส่วนทําให้ภาพลักษณ์ของพืชกัญชงและกัญชาถูกมองในเชิงลบ แนวทางที่ 2 ภาครัฐควรต้องให้ความรู้ที่ชัดเจนต่อประชาชนถึงความแตกต่างของพืชกัญชงและกัญชา รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับสารสกัด CBD ที่มี THC ตํ่ากว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ใช่สารเสพติด และเป็นสารที่มีความปลอดภัยสูง แนวทางที่ 3 ภาครัฐควรให้การสนับสนุนต่อการนําสารสกัด CBD จากพืชกัญชงไปใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์และสุขภาพ และแนวทางที่ 4 กําหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารสกัด CBD ตามที่กฎหมายกำหนด สามารถโฆษณาและจําหน่ายได้เหมือนกับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพทั่วไป

นอกจากข้อคิดเห็นแล้ว ทางอุปนายสมาคมฯ ระบุเพิ่มเติมเรื่องนี้ว่า จากสภาวะสูญญากาศที่เกิดขึ้นเวลานี้ ทางสมาคมฯ จึงอยากจะนำเสนอทางออก ผ่านข้อเสนอแนะต่าง ๆ ดังนี้
1.ภาครัฐควรส่งเสริมและประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างพืชกัญชง กัญชา และสารสกัดให้มากขึ้น เนื่องจากพบว่า ประชาชนยังไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างพืชกัญชงและกัญชาได้ อีกทั้งยังขาดความรู้ความเข้าใจในคุณสมบัติและคุณประโยชน์ของกัญชง กัญชา และสารสกัด
2.ภาครัฐควรออก พ.ร.บ. หรือกฎกระทรวงที่เป็นฉบับหลักชัดเจน สำหรับพืชกัญชงและกัญชาเพื่อควบคุม แทนที่จะนำกลับไปเป็นยาเสพติด รวมถึงควรมีการออกประกาศฉบับรอง สำหรับการนำพืชกัญชงและกัญชา รวมถึงสารสกัดไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

3.ภาครัฐควรออก พ.ร.บ. หรือกฎหมายบังคับใช้ที่ชัดเจนมากขึ้น สำหรับพืชกัญชงและกัญชา ด้วยการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนกับผู้ที่นำพืชกัญชง กัญชา และสารสกัดไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จากที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันการนำไปใช้ผิดเป้าหมายจากที่ภาครัฐได้กำหนดไว้
4.ภาครัฐควรออกประกาศที่ชัดเจนเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่มี CBD เป็นส่วนประกอบ รวมถึงสนับสนุนการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากสารสกัด CBD ไม่มีสาร THC จึงไม่ถูกจัดเป็นยาเสพติด และมีความปลอดภัยสูง รวมถึงภาครัฐควรกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาการขออนุญาตขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ในแต่ละประเภท รวมถึงกำหนดเอกสารที่จำเป็นต่อการพิจารณาให้ชัดเจน อุปนายสมาคมฯ ระบุข้อเสนอเพื่อเป็นทางออกให้กับสถานการณ์ที่เกิด ที่เวลานี้กำลังกระทบไปทั้งห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมดังกล่าว อันเป็นผลพวงมาจากความชัดเจนของนโยบาย และจากท่าทีชักเข้าชักออกของภาครัฐในเวลานี้

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ ปัจจุบันของผลิตภัณฑ์ CBD เพื่อสุขภาพในตลาดการค้าโลกนั้น พบว่า ปี 2023 มีมูลค่าอยู่ที่ 18.21 พันล้านดอลลาร์ (ราว 6.7 แสนล้านบาท) โดยมีอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปีอยู่ที่ 14.33 เปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจการใช้ประโยชน์จากสารสกัด CBD เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสุขภาพ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งที่มีความเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม แต่จากความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น รวมถึงการที่ภาครัฐมีทีท่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา กรณีนี้อาจจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสหลาย ๆ ด้าน ทั้งที่ไทยมีจุดแข็งเรื่องนี้.