ปกติแล้วฟันของคนมีอยู่ 2 ชุดคือฟันน้ำนมและฟันแท้ เมื่อเติบโตถึงวัยผู้ใหญ่ ฟันน้ำนมก็จะหลุดออก เปลี่ยนเป็นฟันแท้ทั้งหมด หลังจากนี้ หากเป็นโรคหรือเกิดความเสียหายต่อเหงือกและฟัน รวมถึงเมื่อเข้าสู่วัยชรา จนทำให้ฟันแท้หลุดออกหรือต้องถอนทิ้ง ก็จะไม่มีฟันใหม่ขึ้นมาทดแทน ต้องใส่ฟันปลอมเข้าไปแทนที่
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้มีทีมนักวิทยาศาสตร์ได้พยายามพัฒนาตัวยาใหม่ที่สามารถช่วยให้ร่างกายสร้างฟันแท้ซี่ใหม่ขึ้นมาได้ หลังจากหลุดออกไปแล้ว และเริ่มทำการทดลองกับสัตว์ในห้องทดลองมาตั้งแต่ปี 2566
หากไม่มีอะไรผิดพลาด ก็เป็นไปได้ว่าช่วงปลายปี 2567 ก็จะมีการทดลองยาช่วยให้ฟันแท้งอกใหม่ชุดแรกกับมนุษย์ โดยกำหนดว่าจะทำการทดลองกันที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกียวโต เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2567 ถึงเดือนสิงหาคม 2568
สำหรับคนไข้ผู้เข้าร่วมการทดลอง กำหนดคุณสมบัติไว้ว่าจะต้องมีอายุระหว่าง 30-64 ปี ซึ่งมีฟันกรามหลุดหรือสูญเสียฟันกรามอย่างน้อย 1 ซี่ โดยจะเป็นการทดลองใช้ยารักษาขนานใหม่ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของยาที่มีต่อสภาพฟันของมนุษย์ หลังจากที่ได้ทดลองกับหนูและตัวเฟอร์เร็ตต์มาแล้ว และพบว่าฟันของพวกมันงอกขึ้นมาใหม่ได้ดี ไม่มีผลข้างเคียง
คัตสึ ทาคาฮาชิ หัวหน้าแผนกศัลยกรรมช่องปากและทันตกรรมของโรงพยาบาลคิตาโนะ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยโครงการนี้กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการไว้ว่า ทีมงานต้องการช่วยเหลือคนที่ต้องลำบากเพราะสูญเสียฟันแท้ไป ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาอย่างถาวร
ตัวยาที่คาดว่าจะช่วยเร่งให้ฟันแท้สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้นี้จะไปหยุดยั้งการทำงานของโปรตีนหรือยีนตัวหนึ่งที่เรียกว่า Uterine sensitisation-associated gene-1 (USAG-1) ซึ่งเป็นตัวกดการงอกใหม่ของฟันเอาไว้
เมื่อปิดกั้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างโปรตีนตัวนี้กับโปรตีนตัวอื่น ๆ จะไปกระตุ้นให้โปรตีน BMP (Bone morphogenetic protein) ที่เกี่ยวกับการสร้างกระดูก กลับมาทำงาน ส่งผลให้กระดูกในร่างกายงอกใหม่ ซึ่งการเลือกกดการทำงานของโปรตีน USAG-1 จะทำให้มีผลกระตุ้นเฉพาะฟันที่จะงอกขึ้นมาใหม่
จากผลการทดลองที่ผ่านมา ทั้งหนูและเฟอร์เร็ตต์ซึ่งมีโปรตีน USAG-1 เหมือนมนุษย์ มีฟันงอกขึ้นมาใหม่ได้หลังจากรับยาตัวนี้เข้าไป ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดี
ทาคาฮาชินั้น ทำงานค้นคว้าเกี่ยวกับการทำให้ฟันงอกขึ้นมาใหม่มาเกือบ 20 ปีแล้วและหวังว่ายารักษาขนานใหม่นี้จะสามารถนำไปใช้ได้หลายรูปแบบ ไม่ใช่ใช้เฉพาะกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องฟัน แต่เขาอยากจะให้ใช้ได้กับทุก ๆ คนที่สูญเสียฟันแท้ไปแล้ว ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่
การทดลองชุดแรกจะใช้เวลา 11 เดือน และหลังจากนั้น ทีมวิจัยก็วางแผนว่าจะทดลองใช้ยานี้กับคนไข้รุ่นเยาว์ที่มีอายุระหว่าง 2-7 ขวบ ที่มีฟันหลออย่างน้อย 4 ซี่เนื่องจากฟันผิดปกติตั้งแต่เกิดจนทำให้มีฟันไม่ครบ
คนไข้เด็กที่มีสภาพดังกล่าวมีอยู่น้อยมาก เพราะเป็นโรคหายากซึ่งมีผลต่อประชากรโลกเพียง 1% เท่านั้น ทีมงานจึงเร่งหาคนไข้ผู้เข้าร่วมการทดลองตั้งแต่ตอนนี้
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังมีแผนที่จะทดลองกับคนไข้วัยผู้ใหญ่ที่ฟันผุหรือสูญเสียฟันเพราะสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ไปในจำนวน 1-5 ซี่
ถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ยาเร่งฟันใหม่งอกใหม่ได้นี้ก็จะสามารถวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2573
ที่มา : ladbible.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES