พังงา เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ตอนบนมีพื้นที่ 4,170 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่ของจังหวัดพังงาเป็นพื้นที่ราบสลับกับภูเขา พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของพังงาส่วนใหญ่จะเป็นยางพาราที่เรารู้จักกันดี แต่ยังมีไม้ผลอีกหลายชนิดที่เกษตรกรนิยมปลูก และส่งออกไปขายยังจังหวัดภาคใต้ และจังหวัดใกล้เคียง เช่น มะไฟกา ลังแข ละไม หล่ำล่ำ จันทน์เทศ จำปาดะ ส้มแขก มะละกะ เป็นต้น แต่ที่เป็นผลไม้ขึ้นชื่อและเป็นที่นิยมซื้อขาย กันเป็นของฝากจากเมืองพังงา คือ ทุเรียนพันธุ์สาลิกา หรือ ที่เรียกกันเป็นภาษาถิ่นว่า “ทุเรียนสากา” เป็นทุเรียนที่มีรสชาติหวานมัน และมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ จนมีคำกล่าวขานที่ว่า “ถ้ามาพังงาแล้วไม่ได้ชิมทุเรียนสากา เหมือนมาไม่ถึงเมืองพังงา”
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพังงา สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 สุราษฎร์ธานี ได้รายงานไว้ในบทความ “ทุเรียนพันธุ์สาลิกา” ว่า ทุเรียนสากาหรือสาลิกา เป็นผลไม้ท้องถิ่นที่นิยมปลูกกันมากในพื้นที่อำเภอกะปง จังหวัดพังงา ลักษณะและจุดเด่นของทุเรียนพันธุ์สาลิกานี้คือ มีลักษณะผลค่อนข้างกลม ความยาวผลประมาณ 30 เซนติเมตรรวมขั้วผล มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร เปลือกผลบาง หนามสั้นและค่อนข้างถี่ เมื่อผลยังดิบสีเปลือกจะมีสีเขียวเข้ม เมื่อผลแก่สีจะอ่อนลงเล็กน้อยและมีสีน้ำตาลอ่อนบริเวณร่องพู เมล็ดภายในส่วนใหญ่เป็นเมล็ดลีบ ขนาดเล็กเกือบทั้งหมดรสชาติหวานมัน และมีความหวานมากกว่าทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ แต่ละพูมีความยาวประมาณ 6-7 เซนติเมตร เนื้อทุเรียนมีสีเหลือง เนื้อหนา ละเอียด ไม่มีเส้นใย เนื้อแน่น ไม่เละ มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์คงไว้ ซึ่งทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองสากาแต่ไม่ฉุน น้ำหนักต่อผลโดยเฉลี่ยประมาณ 1-2 กิโลกรัม ให้ผลผลิตได้เมื่อปลูกไปแล้วประมาณ 4-5 ปี
ทุเรียนพันธุ์สาลิกาที่ปลูกเป็นสวนใหญ่ๆ มีอยู่เพียง 3-4 รายเท่านั้น ส่วนใหญ่จะปลูกร่วมกับมังคุดหรือไม้ผลชนิดอื่นๆ หรือทุเรียนพันธุ์อื่น นอกนั้นจะมีการปลูกกันบ้านละต้นสองต้น ปลูกกันตามหลังบ้าน จึงทำให้มีผลผลิตน้อยและยังไม่รู้จักกันแพร่หลายนัก การขยายพันธุ์ทุเรียนมีหลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตอน การติดตา ทาบกิ่งและการเสียบยอด แต่สำหรับการปลูกทุเรียนพันธุ์สาลิกา เกษตรกรนิยมปลูกโดยการเสียบยอดและเสียบข้าง เนื่องจากการปลูกด้วยเมล็ดจะเกิดการกลายพันธุ์ ทั้งสองวิธีนี้มีข้อดีคือ ได้ต้นทุเรียนที่มียอดพันธุ์ดีตามความต้องการ ให้ผลผลิตเร็ว มีรากแก้วช่วยค้ำยันลำต้น สามารถเพิ่มปริมาณต้นพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วทำได้ง่ายและมีต้นทุนต่ำอีกด้วย
นายอำนวย วัยวัฒน์ เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนพันธุ์สาลิกา ตำบลกะปง อำเภอกะปง จังหวัดพังงา บอกว่า นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีเสียบข้างมากกว่าวิธีเสียบยอด เพราะวิธีเสียบข้างจะทำให้ต้นทุเรียนโตเร็ว ดูแลรักษาง่ายและให้ผลผลิตเร็วกว่าส่วนวิธีการขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอดเป็นวิธีที่ยุ่งยาก และใช้เวลานาน เกษตรกรจึงไม่นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอดด้านการดูแลรักษา เกษตรกรจะนิยมใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 4-5 กิโลกรัม/ต้น ใส่หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เป็นการบำรุงรักษาต้นทุเรียนเพื่อให้พร้อมที่จะให้ผลผลิตในปีต่อไป ทุเรียนพันธุ์สาลิกาจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคม และผลผลิตจะออกสู่ตลาดประมาณเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมของทุกปี ถ้าสภาพอากาศปกติ
ข้อมูล/ภาพ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร