เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด  นายอิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อม นายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะรองโฆษกฯ ร่วมแถลงข่าว กรณีพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาภา หงษ์เหิน อดีตเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และนายวันชัย หงษ์เหิน สามี ผู้ต้องหาคดีร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน 

โดยชี้แจงว่า คดีนี้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 รับสำนวนจาก กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 26 ก.ค.61 คดีระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดย นายสุนทรา พลไตร ผู้กล่าวหา นางเกศินี จิปิภ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน นายวันชัย หงษ์เหิน และ นายพานทองแท้ ชินวัตร ผู้ต้องหาที่ 1-4 ข้อหาร่วมกันฟอกเงินและสมคบกันฟอกเงิน ช่วงระหว่างวันที่ 30 ธ.ค.46-17 พ.ค.47 ต่อเนื่องกัน โดยมีมูลเหตุเกี่ยวพันกับคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีหมายเลขดำ ที่ อม. 3/2555 คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 55/2558 อัยการสูงสุดฟ้อง อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1 พร้อมกับพวกอีกหลายคน ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการยักยอก ความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ความผิดต่อ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ โดยมูลคดีสืบเนื่องจากธนาคารกรุงไทยฯ ปล่อยเงินกู้ให้กับ บริษัท กฤษดามหานครจำกัด (มหาชน) นายวิชัย กฤษดาธานนท์ และนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ บุตรชาย กับพวก ซึ่งพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ส.ค.62 โดยให้ยกฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 1 วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนัก

สำหรับคดีที่กล่าวหา นางกาญจนาภา และนายวันชัย สามี ทางพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 พิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้อง นางเกศินี ซึ่งอธิบดีดีเอสไอ เห็นพ้องกับการสั่งไม่ฟ้อง คดีในส่วนนางเกศินีจึงเสร็จเด็ดขาดแล้ว ส่วน นางกาญจนาภา นายวันชัย และ นายพานทองแท้  พนักงานอัยการ มีคำสั่งฟ้องตามข้อกล่าวหา แต่ยังไม่ได้ยื่นฟ้อง นางกาญจนาภา และนายวันชัย เพราะหลบหนี ส่วนนายพานทองแท้ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ต่อมาศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนายพานทองแท้ พนักงานอัยการ มีคำสั่งไม่อุทธรณ์ ซึ่งอธิบดีดีเอสไอ เห็นพ้องด้วยคดีจึงถึงที่สุดแล้ว  

ต่อมาในวันที่ 30 ก.ค.63 นางกาญจนาภา และนายวันชัย สามีร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งฟ้อง อ้างว่าข้อเท็จจริงรูปแบบพฤติการณ์ที่กล่าวหาเป็นกรณีเดียวกันกับที่กล่าวหา นายพานทองแท้ ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดยกฟ้องไปแล้ว อีกทั้งมูลเหตุก็เป็นกรณีสืบเนื่องจากการกล่าวหา อดีตนายกฯ ทักษิณ และศาลพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีกล่าวอ้างว่า เช็คที่นายวิชัย กฤษดาธานนท์ สั่งจ่ายเงิน 26 ล้านบาท ที่เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาทั้งสองถูกกล่าวหาคดีนี้ ก็เป็นเรื่องธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์ ผ่าน บริษัท หลักทรัพย์ธนชาติ จำกัด และต่อมามีขายหุ้นและได้คืนเงินลงทุนพร้อมกำไรรวมแล้วประมาณ 27 ล้านบาทเศษไปแล้ว

ทั้งนี้พนักงานอัยการ พิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้จากการร้องขอความเป็นธรรม เห็นว่าคดีมีข้อเท็จจริงใหม่ตามที่ผู้ต้องหาทั้งสองร้องขอความเป็นธรรม เพราะคดีที่ฟ้อง อดีตนายกฯ ทักษิณ และนายพานทอง ซึ่งศาลต่างยกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว อีกทั้งตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2547 (ซึ่งเป็นระเบียบที่บังคับใช้ในขณะนั้น) ข้อ 58 ก็วางหลักเกณฑ์ ว่า ในคดีที่มีผู้ต้องหาหลายคนกระทำความผิดในคดีเดียวกันและได้ฟ้องผู้ต้องหาบางคนไว้แล้ว แต่ต่อมาศาลยกฟ้องในเหตุลักษณะคดีและคดีเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว ให้พนักงานอัยการทบทวนความเห็นหรือคำสั่งสำหรับผู้ต้องหาที่สั่งฟ้องและยังจับตัวไม่ได้ไว้ด้วย โดยพนักงานอัยการยังเห็นว่า คดีไม่มีพยานหรือข้อเท็จจริงใด ๆ ว่า ผู้ต้องหาทั้งสองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยฯ หรือมีบทบาทหรืออำนาจใดๆ ในการบีบบังคับธนาคาร ตลอดจนไม่มีส่วนรู้เห็นถึงกระบวนการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กับกลุ่มนายวิชัย กับพวกดังกล่าว

พนักงานอัยการเห็นว่า การร้องขอความเป็นธรรมมีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงความเห็นและคำสั่ง จึงมีคำสั่งกลับความเห็นเดิมที่สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองเป็นสั่งไม่ฟ้อง นางกาญจนาภา และนายวันชัย ขณะนี้สำนวนคดีพร้อมความเห็นและคำสั่งดังกล่าวได้ส่งไปยังอธิบดีดีเอสไอ พิจารณาว่าจะเห็นพ้องหรือแย้งคำสั่ง หากเห็นพ้องคำสั่งไม่ฟ้องเป็นอันเสร็จเด็ดขาด แต่ถ้าอธิบดีดีเอสไอเห็นแย้งก็จะนำเสนออัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาชี้ขาดตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

นายประยุทธ กล่าวเสริมว่า ยืนยันว่าแม้คดีนี้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง แต่การสั่งคดีของพนักงานอัยการมีความเป็นอิสระและไม่ถูกแทรกแซงแต่อย่างใด