นายสิทธา มูลหงษ์ โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า สมเด็จพระสังฆราช ทรงลงพระนามในคำสั่งมหาเถรสมาคมที่ 1/2564 เรื่อง กรณีพระภิกษุสามเณรเรียนวิชา หรือสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์ พ.ศ. 2564 แล้ว ซึ่งเป็นการปรับปรุงคำสั่งมหาเถรสมาคม (มส.) เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรเรียนวิชาชีพ หรือสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือกอย่างคฤหัสถ์ พ.ศ.2538 โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้ ข้อ 4 ห้ามพระภิกษุสามเณรสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือก เพื่อเข้ารับราชการ หรือทำงาน ในหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นกรณีพระภิกษุสามเณรเข้ารับคัดเลือกเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) สำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง สำนักงานการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา หรือศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ และตำแหน่งอื่นที่กำหนดไว้สำหรับพระภิกษุสามเณรเป็นการเฉพาะตาม พ.ร.บ.การศึกษาพระปริย์ติธรรม พ.ศ.2562

โฆษก พศ. กล่าวต่อไปว่า ข้อ 5 ห้ามพระภิกษุสามเณรสอบแข่งขัน หรือสอบคัดเลือก เพื่อรับทุนการศึกษาจากหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นกรณีพระภิกษุสามเณรเข้ารับคัดเลือกเพื่อรับทุนการศึกษาจากหน่วยงานของรัฐ หรือจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในสาขาพระพุทธศาสนา ปรัชญา ภาษาบาลีสันสกฤต และสาขาอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่ได้กำหนดไว้เป็นทุนการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรเป็นการเฉพาะ หรือเป็นทุนการศึกษาที่จัดสรรเพื่อวัตถุประสงค์ในการเกื้อหนุนพระพุทธศาสนา ข้อ 6 ห้ามพระภิกษุสามเณรเรียนวิชาอย่างคฤหัสถ์ เว้นแต่เข้าศึกษาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีทางการศึกษา หรือวิชาอื่นใดที่มหาเถรสมาคมกำหนด โดยจะมีเงื่อนไขประการใดหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้เฉพาะเพื่อประโยชน์แก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือเข้าศึกษาใน มจร มมร หรือสถานศึกษาอื่นใด ที่จัดการศึกษาโดยคณะสงฆ์

นายสิทธา กล่าวต่อไปว่า หากพระภิกษุสามเณรรูปใดฝ่าฝืนคำสั่งมหาเถรสมาคมนี้ 1.ถ้ามิได้เป็นพระสังฆาธิการ ให้เจ้าอาวาสเจ้าสังกัดสั่งพระภิกษุสามเณรรูปนั้น ให้เลิกการกระทำเช่นนั้นเสีย หากตักเตือนแล้วยังฝ่าฝืนอีก ให้จัดการให้พระภิกษุสามเณรรูปนั้นออกไปเสียจากวัด และบันทึกเหตุที่ให้ออกไปนั้นในหนังสือสุทธิ แล้วรายงานตามลำดับชั้นจนถึงเจ้าคณะจังหวัด เจ้าสังกัดทราบ 2.ถ้าเป็นพระสังฆาธิการ ให้เจ้าคณะเจ้าสังกัดพิจารณาลงโทษ ฐานละเมิดจริยาพระสังฆาธิการ ตามควรแก่กรณี แต่ถ้าพระสังฆาธิการได้กระทำความผิดในเขตจังหวัดที่ตนมิได้สังกัดอยู่ ให้เจ้าคณะในเขตที่ความผิดนั้นเกิดขึ้น แจ้งแก่เจ้าคณะเจ้าสังกัดของผู้กระทำความผิด เพื่อดำเนินการดังกล่าว โดยแยกการแจ้งดังนี้ 1.ในกรุงเทพฯ ให้แจ้งแก่เจ้าคณะกรุงเทพฯ 2.ในจังหวัดอื่น ให้แจ้งแก่เจ้าคณะจังหวัดผ่านเจ้าคณะภาค ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 28 ก.ย. 2564