นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ว่า ขณะนี้ กทพ. เจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้รับสัมปทานบริหารจัดการทางพิเศษ (ด่วน) ศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 ในการปรับลดอัตราค่าผ่านทางทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 ให้เหลือไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางแก่ประชาชนเสร็จสิ้นแล้ว ต้องแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่าง กทพ. และ BEM
โดย กทพ. ได้ส่งร่างสัญญาสัมปทานฯ ให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ตามปกติในขั้นตอนการตรวจร่างสัญญาฯ จะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน คาดว่าประมาณเดือน ส.ค. 2567 จะเสนอ ครม. และจะเริ่มปรับลดอัตราค่าผ่านทางด่วนในอัตราไม่เกิน 50 บาทตลอดสายได้ภายในปี 2567 และปรับขึ้นค่าผ่านทางด่วนทุก 10 ปี ตามดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ในการปรับลดค่าผ่านทาง กทพ. ได้ขยายสัญญาสัมปทานให้ BEM ในระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน หรือประมาณปี 2601 จากก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.พ. 63 ได้ขยายสัญญาไป 15 ปี 8 เดือน ก่อนสิ้นสุดสัญญาในเดือน ต.ค. 2578 เพื่อแลกกับข้อพิพาทระหว่างกัน 17 คดี รวมทั้งปรับสัดส่วนการแบ่งรายได้ระหว่าง กทพ. กับ BEM จากเดิม กทพ. 60% และเอกชน 40% เหลือ 50% : 50% การขยายสัญญาครั้งนี้ BEM ต้องรับภาระในการลงทุนก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deckหรือทางด่วน 2 ชั้น) ให้ กทพ. ด้วย
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า รู้สึกเห็นใจพนักงาน กทพ. และ กทพ. ที่จะมีผลประกอบการลดลง แต่ กทพ. เป็นรัฐวิสาหกิจ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางให้ประชาชน ดังนั้นจึงต้องมองผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นหลัก การแก้ไขสัญญาสัมปทานฯ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน แต่ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน และประเทศชาติเป็นหลัก ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ตัวเลขระยะเวลาที่ขยายสัญญาฯ ออกไปให้เอกชนนั้น กทพ. มีรายละเอียด มีการคำนวณมูลค่าทางการเงิน และผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ตามหลักวิชาการ และความเป็นธรรม สามารถอธิบาย และตรวจสอบได้ มั่นใจว่าระยะเวลาที่ขยายสัญญาเพิ่มเติมนั้นไม่ได้เป็นตัวเลขที่สูงเกินไป ประกอบกับการจราจรติดขัดช่วงสายงามวงศ์วาน-พระราม 9 และภาพรวมจำเป็นต้องก่อสร้าง Double Deck เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รัฐบาลไม่ต้องลงทุนให้ผู้รับสัมปทานลงทุนทั้งหมด เพื่อแก้ไขปัญหาการการจราจรติดขัด ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี จึงต้องขยายสัญญาทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ไปอีก 22 ปี 5 เดือน
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า สำหรับ Double Deck กทพ. ศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ อยู่ในขั้นตอนเสนอขออนุมัติรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ค่าก่อสร้าง 3.4 หมื่นล้านบาท
ปัจจุบันจากงามวงศ์วานไปพระราม 9 ต้องจ่ายค่าทางด่วนประมาณ 90 บาท (ด่านประชาชื่น 65 บาท ด่านอโศก 25 บาท) นโยบายลดเหลือ 50 บาท จะจ่ายในอัตราดังนี้ จ่ายที่ด่านประชาชื่น 50 บาท (ลดไป 15 บาท) และยกเลิกด่านอโศกที่เคยจ่าย 25 บาท (รวมลดไป 40 บาท) ส่วนจากพระราม 9 ไปงามวงศ์วาน เดิม 90 บาท (ด่านศรีนครินทร์ 25 บาท ด่านอโศก 50 บาท และไปประชาชื่น 15 บาท) ลดเหลือ 50 บาท โดยจ่ายที่ด่านศรีนครินทร์ 25 บาทเหมือนเดิม ด่านอโศกจาก 50 บาท เหลือ 25 บาท ด่านประชาชื่น (ที่เคยจ่าย 15 บาทยกเลิก) รวมไปกลับลดลง 80 บาท