เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นายวิชชุกร คำจันทร์ ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังยื่นเรื่องร้องต่อศาลฎีกา ต่อกรณีการจัดเลือก สว. ว่า ตนและผู้สมัคร สว. คนอื่น ได้เดินทางมายื่นร้องต่อศาลฎีกาใน 3 ประเด็น ประเด็นที่ 1 เกี่ยวกับคุณสมบัติผู้สมัคร สว. เป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 14 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 กำหนดข้อห้ามไว้ว่าบุคคลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ห้ามเข้ามาสมัครรับเลือก สว. แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีกำนันผู้ใหญ่บ้านหลายคนเข้ามาสมัครในครั้งนี้ ที่ผ่านทั้งระดับอำเภอ จังหวัด มาจนถึงรอบระดับประเทศ ผลของมัน คือ สว. ที่ได้รับเลือกจากบุคคลเหล่านี้ ก็จะเป็น สว. ที่มาจากบุคคลที่สมัครรับเลือก สว. โดยไม่ถูกต้อง ก็เหมือนกับคะแนนผี ซึ่ง กกต. เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะเป็นความผิดรายบุคคล แต่เป็นเห็นว่าไม่ถูกต้องเพราะมีจำนวนไม่น้อย น่าจะทำให้การเลือก สว. ครั้งนี้เป็นโมฆะ เพราะไม่ใช่ความผิดบุคคล แต่เป็นความผิดที่เกิดจาก กกต. ไม่ตรวจสอบ แล้วปล่อยให้มีการนับคะแนนผีเหล่านี้ได้อย่างไร
ประเด็นที่ 2 คือ ตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญ เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้การเลือก สว. ต้องเป็นการเลือกโดยไม่มีการสมยอมกัน แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็เห็นชัดเลยว่า การลงคะแนนเลือกในแต่ละกลุ่ม มีลักษณะการลงคะแนนในชุดตัวเลขเดียวกันเป็นจำนวนมาก เช่นกลุ่ม 19 มีตัวเลขเรียงกันและตรงกันทุกตำแหน่งถึง 27 คน เป็นไปได้อย่างไรที่จะเหมือนกันขนาดนี้ หากไม่ใช่การสมยอมกัน ถือว่าขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 107
และประเด็นที่ 3 การเลือก สว. ครั้งนี้ เป็นการลงคะแนนแบบไม่ปิดลับ ทุกคนสามารถรับรู้กันหมดตั้งแต่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด มาจนถึงระดับประเทศ ว่าผู้สมัครแต่ละคนเลือกเบอร์อะไร ขัดมาตรา 33 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. แต่ กกต. ไม่ได้มีการเปลี่ยนวิธีการเลย ยังคงใช้วิธีดังกล่าวมาจนถึงการเลือกในระดับประเทศ
ทั้งนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตาม 1 ใน 3 ข้อที่ตนกล่าวมานี้ คิดว่าน่าจะมีคำวินิจฉัยให้การเลือก สว. ครั้งนี้ เป็นโมฆะ เพราะขัดทั้งรัฐธรรมนูญ ขัดทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. แต่ปรากฏว่าศาลฎีกายกคำร้องโดยระบุว่า ให้ไปดำเนินการใช้สิทธิตามมาตรา 64 ร้องต่อ กกต. ซึ่งตนก็ค่อนข้างประหลาดใจ เนื่องจากตนได้ดำเนินการใช้สิทธิตามมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาข้อ 32 ระบุไว้ ว่าผู้สมัคร สว. ระดับประเทศ สามารถร้องได้ภายใน 3 วัน นับจาก กกต. มีคำสั่งเกี่ยวกับการเลือก อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลแทงมาอย่างนี้ ตนก็ต้องรอดูว่า กกต. จะมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพื่อนๆ ผู้สมัคร สว. ไปร้องเรียนเอาไว้ ดูว่าจะออกมาอย่างไร หลังจากนั้นตนจึงจะนำเรื่องกลับมาร้องที่ศาลฎีกาอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้ประเด็นเดิมนี้ ซึ่งตนเห็นว่ามันมีน้ำหนักมาก เป็นประเด็นที่ชี้ให้เห็นว่าการเลือก สว. ครั้งนี้ ขัดรัฐธรรมนูญ.