สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ว่า คณะผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็น พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับไซโคลนเฟรดดี้ นับตั้งแต่มันเคลื่อนตัวอย่างน่าทึ่งในเดือน ก.พ.-มี.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) สรุปว่า พายุลูกดังกล่าวทำลายสถิติก่อนหน้านี้อย่างแท้จริง
“คณะกรรมการประเมินสภาพอากาศสุดขั้ว ยืนยันระยะเวลาของไซโคลนเฟรดดี้ ที่คงอยู่นาน 36 วัน ในสถานะพายุโซนร้อนหรือสูงกว่า ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่สำหรับระยะเวลาพายุหมุนเขตร้อนที่ยาวนานที่สุด” ดับเบิลยูเอ็มโอ ระบุในแถลงการณ์
2023 cyclone Freddy longest on record at 36 days – UN https://t.co/652p7WtiTf
— Inquirer (@inquirerdotnet) July 2, 2024
แม้เฟรดดี้ทำลายสถิติเดิมของ “ไซโคลนจอห์น” ซึ่งเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่คงอยู่นาน 714 ชั่วโมง หรือเกือบ 30 วัน เมื่อปี 2537 อย่างไรก็ตาม จอห์นยังคงเป็นพายุโซนร้อนที่เคลื่อนตัวได้ไกลที่สุด ครอบคลุมระยะทาง 13,159 กิโลเมตร ส่วนเฟรดดี้ เคลื่อนตัวในระยะทาง 12,785 กิโลเมตร
“เฟรดดี้เป็นพายุหมุนเขตร้อนที่น่าทึ่ง โดยนอกจากระยะเวลาที่ยาวนานแล้ว มันยังมีความสามารถในการคงอยู่หลังการพัดถล่มบนบกหลายครั้ง ซึ่งมันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่พายุลูกนี้ ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประชากรในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้” นายคริส เวลเดน สมาชิกคณะกรรมการ และผู้เชี่ยวชาญด้านพายุหมุนเขตร้อนและดาวเทียม จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน กล่าว
อนึ่ง ดับเบิลยูเอ็มโอ ไม่ได้เชื่อมโยงระยะเวลาการคงอยู่ของเฟรดดี้ ที่ยาวยานเป็นพิเศษ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์โดยตรง แต่หน่วยงานเน้นย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มีความเชื่อมโยงกับความเป็นไปได้ที่เกิดเฮอร์ริเคนลูกใหญ่เพิ่มขึ้น และความรุนแรงยิ่งกว่าเดิมของพายุเหล่านั้น.
เครดิตภาพ : AFP