ยังคงเป็นประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจกันล้นหลาม จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้ออกมาโพสต์ชวนตั้งคำถาม เกี่ยวกับหนังสือเรียนที่ตนเองได้อ่าน ดันไปเจอวิธีโหลดโปรแกรมเถื่อน ภายหลังต่อมาโพสต์ดังกล่าวตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์สนั่น หลายคนแห่สงสัยผ่าน QC มาได้ไง พร้อมตั้งคำถามกับหน่วยงานอย่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาว่ารับรองเนื้อหาแบบนี้ด้วยเหรอ หวั่นใจว่าจะมีเล่มอื่น ๆ หลุดอีก แล้วแบบนี้อนาคตของชาติอีกกี่ล้านคน ที่ต้องเรียนรู้เนื้อหาไปอย่างผิด ๆ ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจะมีส่วนรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร?
ชาวเน็ตคาใจ ‘สอศ.’ รับรองได้ไง? หนังสือเรียนสอนโหลดโปรแกรมเถื่อน
ล่าสุดทีมผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ออนไลน์รายงานว่า นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รีบดำเนินการตรวจสอบ และหารือร่วมกับคณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพหนังสือเรียน
โดยมีข้อค้นพบว่า รายวิชาที่เป็นข่าวในสื่อออนไลน์ดังกล่าว มีความคลาดเคลื่อนด้านเนื้อหาในเชิงจริยธรรมและลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไข (พ.ศ. 2560)
ซึ่ง สอศ. ให้ความสำคัญในเรื่องจริยธรรมและลิขสิทธิ์ จึงมีข้อสรุปร่วมกันกับคณะกรรมการตรวจประเมินคุณภาพหนังสือเรียน เห็นควรพิจารณา ปลดรายชื่อหนังสือเรียนรายวิชาดังกล่าวโดยเร่งด่วน เพื่อแสดงเจตจำนงของ สอศ. ที่ให้ความสำคัญในเรื่องจริยธรรม ความถูกต้องตามหลักวิชาการ คุณภาพ และลิขสิทธิ์ของหนังสือเรียน
ทั้งนี้ สอศ. จะนำประเด็นดังกล่าวชี้แจงให้สำนักพิมพ์และผู้แต่งหนังสือเรียนทราบ เพื่อเป็นการป้องกันกรณีดังกล่าวไม่ให้เกิดซ้ำอีก…