สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ว่า หญิงวัยกลางคนและผู้สูงอายุ กำลังเรียนบัลเลต์คลาสสิก หรือกลับมาเรียนบัลเลต์มากขึ้นเรื่อย ๆ อีกครั้ง
ชั้นเรียนบัลเลต์ที่ออกแบบมาสำหรับสตรีในวัยเหล่านี้ คำนึงถึงร่างกายซึ่งมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าเด็ก ซึ่งบัลเลต์ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่ และรวมไปถึงการแข่งขันสำหรับผู้ใหญ่ ที่ประสงค์จะแสดงบนเวทีโดยเฉพาะอีกด้วย
ผู้หญิง 14 คน รวมตัวกันในชั้นเรียนบัลเลต์ที่ดำเนินการโดย ‘ชาคอตต์’ แบรนด์ที่ได้รับความนิยมในหมู่นักเต้นบัลเลต์จากญี่ปุ่น ในเขตชูโอของกรุงโตเกียว โดยผู้หญิงส่วนใหญ่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หนึ่งในนั้นคือนักเขียนวัย 55 ปี ซึ่งเริ่มเรียนบัลเลต์ เมื่ออายุ 47 ปี
ขณะที่นาง มาอิ โอคาเบะ ครูสอนบัลเลต์ ซึ่งมีประสบการณ์ 20 ปี กล่าวว่า “มีคนจำนวนมากที่จริงจังกับการฝึกฝน” เธอกล่าว “ความกระตือรือร้นของพวกเขานั้นยอดเยี่ยมมาก พวกเขาถามฉันเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาอยากรู้และจดบันทึก” ขณะนี้ ชาคอตต์มีสตูดิโอ 9 แห่งทั่วประเทศ และนักเรียนประมาณร้อยละ 30 อยู่ในวัย 50 ปี หลังการจัดแคมเปญสำหรับสมาชิกใหม่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา ผู้คนประมาณร้อยละ 40 เปอร์เซ็นต์ ที่เข้าร่วมมีอายุ 50 ปีขึ้นไป และมีอายุมากสุดที่ประมาณ 80 ปี
อนึ่ง จำนวนผู้ที่เรียนบัลเลต์ในญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง จากการสำรวจในปี 2554, 2559 และ 2564 โดยศูนย์วิจัยบัลเลต์ของมหาวิทยาลัยดนตรีโชวะ ในเมืองคาวาซากิ จังหวัดคานางาวะ พบว่า นักเรียนบัลเลต์ลดลงจากประมาณ 400,000 คน จากเมื่อปี 2554 เหลือเพียงประมาณ 250,000 คน ในปี 2564
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแยกตามอายุ พบว่า นักเรียนบัลเลต์ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วง 60 ปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 45 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 65 เมื่อปี 2564 และชั้นเรียนที่มีนักเรียนอายุ 70 ปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 36 เมื่อปี 2564
ด้านสถาบันบัลเลต์ โอโตนะ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2561 และปัจจุบันมี 6 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในโตเกียว โดยนักเรียนครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 400 คน เป็นผู้หญิงในวัย 50 ปี เนื่องจากมีผู้เริ่มเรียนจำนวนมาก โรงเรียนจึงได้เริ่มชั้นเรียนสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้น เพื่อปรับความรู้พื้นฐานของบัลเลต์ เช่น ท่าหลักในการเดินเท้า และวิธีงอข้อต่ออย่างสวยงาม
ขณะเดียวกัน นักเรียนบัลเลต์จำนวนมากเดินหน้าฝึกฝน และไม่เพียงหยุดอยู่แค่การเต้นในสตูดิโอเท่านั้น “คนจำนวนมากมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ที่จะเต้นรำบนเวที” น.ส.ชิโฮะ ยามาอุจิ จากมาร์ตี คอร์ป ผู้ผลิตเครื่องแต่งกายบัลเลต์จากโตเกียว กล่าว
ในฤดูใบไม้ผลิปี 2566 บริษัทได้จัดการแข่งขันครั้งแรก สำหรับผู้ที่เริ่มเต้นบัลเลต์หลังจากเป็นผู้ใหญ่แล้วเท่านั้น ขณะที่การแข่งขันเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วม 30 คน ซึ่งประมาณร้อยละ 70 เป็นผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม นักเรียนบัลเลต์วัยผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่จะได้รับบาดเจ็บมากกว่า หากมีการออกแรงมากเกินไป เช่น การกระโดดสูง “ฉันแนะนำให้นักเรียนทำความคุ้นเคยกับบัลเลต์โดยคำนึงถึงแก่นแท้ของบัลเลต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสวยงามและการแสดงออก มากกว่าการพัฒนาเทคนิค” ยามาอุจิ กล่าวทิ้งท้าย.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES