สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ว่า จนถึงขณะนี้ มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากกว่า 5,000 ดวง แต่มีเพียงไม่กี่ดวงเท่านั้นที่ถูกเรียกว่า “โซนที่เอื้อต่อการอยู่อาศัย” ซึ่งหมายถึง ดาวเคราะห์ที่ไม่ร้อนหรือไม่หนาวเกินไป และอาจมีน้ำที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต
ดาวเคราะห์ “แอลเอชเอส 1140” (LHS 1140) เป็นหนึ่งในดาวเคราะห์ไม่กี่ดวงที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว และได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน นับตั้งแต่การค้บพบครั้งแรกเมื่อปี 2560 โดยดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ห่างจากโลก 48 ปีแสง หรือเท่ากับระยะทางมากกว่า 450 ล้านล้านกิโลเมตร ซึ่งถือว่าค่อนข้างใกล้ในระยะทางของอวกาศ
แม้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ถูกมองว่าเป็นดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ขนาดเล็กที่เรียกว่า “มินิเนปจูน” ซึ่งมีชั้นบรรยากาศหนาแน่นที่เต็มไปด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียม จนไม่สามารถรองรับสิ่งมีชีวิตนอกดาวเคราะห์ได้ อย่างไรก็ตาม การสังเกตครั้งใหม่จากกล้องโทรทรรศน์เจมส์ เวบบ์ ยืนยันว่า ดาวแอลเอชเอส 1140 เป็น “ซูเปอร์เอิร์ธ” ที่เป็นหิน
ด้านนายมาร์ติน เทอร์เบต์ ผู้เขียนร่วมงานศึกษา จากศูนย์วิทยาศาสตร์ “ซีเอ็นอาร์เอส” ของฝรั่งเศส กล่าวว่า ความหนาแน่นของดาวแอลเอชเอส 1140 บ่งชี้ว่า มันมีน้ำปริมาณมากมายมหาศาล ซึ่งแม้ยังไม่มีหลักฐานโดยตรงว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้มีชั้นบรรยากาศ แต่มีหลายองค์ประกอบที่ชี้ไปในทิศทางนั้น
อนึ่ง นักวิจัยหลายคนประมาณการว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี เพื่อยืนยันว่า ดาวแอลเอชเอส 1140 มีชั้นบรรยากาศหรือไม่ และต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 2-3 ปี ในการตรวจสอบการมีอยู่ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์.
เครดิตภาพ : AFP