สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ว่า จีน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แม้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด แต่กำลังสร้างฐานการผลิตพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งผลิตพลังงานได้มากกว่าทุกประเทศรวมกันถึง 2 เท่า

จีนมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ถึงจุดสูงสุด ภายในปี 2573 และทำให้เป็นศูนย์ภายในปี 2603 หลังในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โลกต้องทนต่อสภาพอากาศสุดขั้วหลายระลอก ขณะที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์ต่าง ๆ จะรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ปัจจุบัน จีนมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างรวม 339 กิกะวัตต์ รวมไปถึงพลังงานลม 159 กิกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 180 กิกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นเกือบ 2 เท่าของส่วนที่เหลือของโลกรวมกัน ขณะที่การศึกษาของโกลบอล เอเนอร์จี มอนิเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยพลังงานของสหรัฐ ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าประเทศอันดับ 2 อย่างสหรัฐ ซึ่งมีกำลังผลิตพลังงานรวมเพียง 40 กิกะวัตต์

นอกจากนี้ จีนทำลายสถิติ ด้วยการสร้างหน่วยการผลิตพลังงานลมและโซลาร์แห่งที่ 3 ซึ่งเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกเพียงร้อยละ 7 “ความแตกต่างในอัตราการก่อสร้าง แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจีน ในการดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียน” รายงานกล่าว

อย่างไรก็ตาม การผลิตพลังงานหมุนเวียนจำนวนมหาศาลของจีน มีข้อเสียอยู่บ้าง เนื่องจากโครงข่ายโรงงานถ่านหินยังสร้างมลพิษอย่างหนัก เพื่อรับมือกับความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น และปัญหาในการส่งพลังงานหมุนเวียนซึ่งสร้างขึ้นในพื้นที่ห่างไกล ทางตะวันตกเฉียงเหนือ ไปยังศูนย์กลางเศรษฐกิจและประชากรในภาคตะวันออก

อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตลมและพลังงานแสงอาทิตย์รวมกันของจีน คาดว่าจะแซงหน้าถ่านหินในปีนี้ รายงานระบุว่า การขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความหวังว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนของจีนจะถึงจุดสูงสุดเร็วกว่าที่คาดไว้

ขณะที่ศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ (ซีอาร์อีเอ) เปิดเผยว่า จีนไม่ได้ออกใบอนุญาตใหม่ สำหรับโครงการผลิตเหล็กจากถ่านหินในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบครึ่งปี ที่ไม่มีใบอนุญาตใหม่ นับตั้งแต่จีนประกาศเป้าหมายคาร์บอนคู่ เมื่อเดือน ก.ย. 2563 โดยการพัฒนาดังกล่าวได้รับการยกย่อง ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่เป็นไปได้

“ขณะที่ความต้องการเหล็ก และชิ้นส่วนของจีนเพิ่มมากขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนผ่านจากการใช้ถ่านหิน ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอีก 10 ปีข้างหน้า” ซีอาร์อีเอรายงาน

นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนทำให้สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้จีนเผชิญกับฤดูร้อนที่ร้อนระอุทางตอนเหนือ และฝนตกหนักทางตอนใต้ โดยอุณหภูมิจะสูงมากจะยังคงดำเนินต่อไป ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า มากไปกว่านั้น ฝนตกหนักทางตะวันออกและทางใต้ของจีน ได้ทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มร้ายแรงหลายครั้ง ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา.

เครดิตภาพ : AFP