เมื่อวันที่ 23 ก.ค. นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยให้ความเห็นต่อแนวทางการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรมว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เห็นอาการกล้า ๆ กลัว ๆ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ได้มีมติในส่วนที่เกี่ยวกับคดีความผิดตามมาตรา 112 ด้วยการเสนอแนวทางการนิรโทษกรรมใน 3 แนวทางเพื่อเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ดังนี้ ไม่นิรโทษกรรมคดีความผิดตามมาตรา 112 นิรโทษกรรมคดีความผิดตามมาตรา 112 นิรโทษกรรมคดีความผิดตามมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการ ฯ ยังมีความเห็นไม่นิรโทษกรรมคดีความผิดต่อชีวิตตามมาตรา 288 และมาตรา 289 นายชวลิต กล่าวว่า พรรคไทยสร้างไทยมีความชัดเจนในการแสดงจุดยืนทางการเมืองเสมอมาว่า คดีความผิดตามมาตรา 112 เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 6 บัญญัติว่า”องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” ดังนั้น การดำเนินการใด ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการละเมิดต่อพระมหากษัตริย์จะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด

นายชวลิต กล่าวอีกว่าในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ผ่านมา ช่วงที่ผมรักษาการประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ได้พิจารณาเห็นว่า บ้านเมืองเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนในชาติ แบ่งเป็นฝัก เป็นฝ่าย ขัดแย้งกันไปมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปี เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ จึงดำเนินการจัดทำรายงานการศึกษา เรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ ได้ข้อสรุปว่า

“ควรมีการนิรโทษกรรมเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง มีระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบันนิรโทษกรรมคดีการเมือง คดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ยกเว้นคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีทุจริตทั้งนี้ กระบวนการในการพิจารณาคดีทุจริตต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม” นายชวลิตกล่าว

นายชวลิต กล่าวต่ออีกว่า เมื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นเอกฉันท์ ที่สำคัญ ทุกพรรคการเมืองที่เคยให้ความเห็นชอบในขณะนั้น ก็ยังอยู่ครบถ้วนในสภา ฯ ชุดนี้ทุกพรรคการเมือง(รัฐบาลในขณะนั้นยังมิได้นำรายงานของคณะกรรมาธิการ ฯ ที่สภา ฯ ให้ความเห็นชอบไปดำเนินการ ตามมติสภา ฯ ก็หมดวาระลง)มาถึงสภา ฯ ชุดนี้ ก็มีการดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการ ฯ ขึ้นมาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และมีความเห็นในการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับคดีความผิดตามมาตรา 112 ได้เสนอทางเลือก ใน 3 แนวทาง ดังกล่าวข้างต้น

“ในฐานะที่ผมเคยศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติจนสภา ฯ ให้ความเห็นชอบกับรายงานดังกล่าวข้างต้น จึงได้เสนอความเห็นต่อ ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ฯ และคณะผู้บริหารพรรค ซึ่งมีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เป็นหัวหน้าพรรค ว่าพรรคไทยสร้างไทยควรเสนอทางออกที่เหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันที่ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ และมีสถานการณ์แตกต่างจากในอดีตในประเด็นที่อ่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นควรมีการนิรโทษกรรมคดีความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งได้ข้อสรุปมีความเห็นตรงกันว่า”คดีความผิดตามมาตรา 112 เป็นคดีความมั่นคง เป็นคดีที่ไม่สามารถยอมความได้” นายชวลิต กล่าว

นายชวลิต กล่าวว่า จากสถานการณ์บ้านเมืองที่แตกต่างจากอดีต โดยเฉพาะการพิจารณาคดีความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน พรรคมีข้อเสนอทางออกต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่ 2 ประการ โดยที่ไม่ต้องแก้ไขมาตรา 112 คือ1. แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนที่เกี่ยวกับการร้องทุกข์กล่าวโทษคดีความผิดตามมาตรา 112 โดยให้มีคณะกรรมการจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น อัยการ ตำรวจ นักวิชาการ กลั่นกรองคำร้องทุกข์ เพื่อป้องกันการกลั่นแกล้งในการดำเนินคดี 2. โดยที่คดีความผิดตามมาตรา 112 เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งเป็นคดีที่ไม่สามารถยอมความได้ ทางออกในประเด็นนี้ ควรแก้ไขกฎหมายให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะ “พระราชทานอภัย” สำหรับกรณีความผิดตามมาตรา 112 ได้ โดยให้เป็นการระงับการดำเนินคดีและให้ถือว่าคดีเป็นอันสิ้นสุด ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องมีหนังสือกราบบังคมทูล “ขอพระราชทานอภัย” แสดงความสำนึกผิดในการกระทำที่กระทำล่วงละเมิด จะโดยตั้งใจหรือมิได้ตั้งใจก็ตาม พร้อมให้คำมั่นว่า จะไม่กระทำผิดซ้ำอีกในระหว่างการดำเนินคดีก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด กรณีนี้เรียกว่า “การขอพระราชทานอภัย” ซึ่งต่างจาก “การขอพระราชทานอภัยโทษ” อันเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วอนึ่ง สำหรับกรณีที่คณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีความเห็นในอีกข้อหนึ่งว่า ” ไม่นิรโทษกรรมคดีความผิดต่อชีวิตตามมาตรา 288 และมาตรา 289″ นั้น ผมมีความเห็นโดยส่วนตัวว่า การนิรโทษกรรมในหลาย ๆ ประเทศที่ประสบความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมา แม้ในความขัดแย้งจะมีความรุนแรงถึงขั้นมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ทารุณโหดร้ายเกิดขึ้น แต่ครอบครัว ญาติ และผู้เกี่ยวข้องได้ “ลืม” การกระทำดังกล่าวนับเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ยุติการล้างแค้นกันไปมาไม่รู้จักจบสิ้นเมื่อลืม ก็จะมีสำนึกอภัยเกิดขึ้นตามมา

นายชวลิต กล่าวอีกว่า เพียงการนิรโทษกรรมมิได้ทำให้บาดแผลทางจิตใจของครอบครัวผู้สูญเสียหมดไป ในรายงานของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฏร ในช่วงที่ผมทำหน้าที่รักษาการประธานคณะกรรมาธิการ ฯ ได้มีข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อเนื่องจากการมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ดังนี้ 1. ให้มีการเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทุกฝ่าย2. การแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษต่อสาธารณชน จากรัฐบาล ฝ่ายค้าน พรรคการเมือง ผู้นำการชุมนุม ฯลฯ แม้เวลาจะผ่านมาหลายรัฐบาลแล้วก็ตาม 3. ข้อสังเกตเกี่ยวกับสื่อ เพื่อป้องกันสื่อเลือกข้างที่อาจก่อให้เกิดการยั่วยุสร้างความรุนแรงขึ้นอีกฯลฯ ท้ายที่สุดนี้ ขอเรียนว่า ข้อเสนอความเห็นต่อแนวทางการจัดทำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้ดำเนินการด้วยความสุจริตใจ อยากจะเห็นการดำเนินงานของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากภาคประชาชนสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองประสบความสำเร็จจากการจัดทำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะที่ผ่านมาเห็นแต่คณะรัฐประหารนิรโทษกรรมให้กับตนเองและพวกพ้องเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่คณะรัฐประหารกระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองอย่างมหันต์จากการก่อรัฐประหารซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต หากคณะกรรมาธิการ ฯ ได้เสนอรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการพิจารณาคดีความผิดตามมาตรา 112 ในลักษณะที่เป็นทั้งการปกป้องสถาบัน เป็นทั้งการอภัย และสำนึกผิดต่อการกระทำ แล้วขอพระราชทานอภัย ก็อาจจะเป็นทางออกต่อปัญหาที่ละเอียดอ่อนที่กำลังพิจารณาอยู่ในสภา ฯ ในขณะนี้