น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า วธ.ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชน ที่มีต่อ “วันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2567” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 ก.ค. จากกลุ่มตัวอย่างเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 22,109 คน ผลโพลชี้ว่าเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าภาษาไทยมีความสำคัญ อันดับแรก คือ เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ร้อยละ 71.22 เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ร้อยละ 49.58 และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความรู้ ความคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ร้อยละ 44.97 ขณะที่เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าแหล่งเรียนรู้หรือสถานที่ช่วยส่งเสริมและอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยในยุคปัจจุบัน คือ โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานศึกษา ร้อยละ 67.20 หอสมุดแห่งชาติ ร้อยละ 53.74 และพิพิธภัณฑ์ ร้อยละ 42.33

น.ส.สุดาวรรณ กล่าวอีกว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการใช้ภาษาไทยในปัจจุบัน เป็นอันดับแรก คือ ครูอาจารย์ ร้อยละ 58.71 อันดับ 2 ผู้ประกาศข่าว ร้อยละ 54.27 และอันดับ 3 พิธีกร ร้อยละ 51.16 ขณะที่เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าแหล่งที่พบเห็นการใช้ภาษาไทยที่สะกด ออกเสียง ผิดเพี้ยนไป หรือคำแปลกๆ บ่อยที่สุด คือ การคุยไลน์ คอมเมนต์ ตามเพจต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ฯลฯ ร้อยละ 72.92 การพูดคุยตามๆ กันในหมู่เพื่อนๆ ร้อยละ 56.32 โซเชียลมีเดีย สื่อออนไลน์ ร้อยละ 52.79 นอกจากนี้ยังคิดว่าปัญหาในการใช้ภาษาไทยที่มักจะพบเจอเป็นประจำ คือ เขียนผิด ร้อยละ 70.65 รองลงมา คือ อ่านผิด ร้อยละ 53.76 และพูดผิด ร้อยละ 51.20 นอกจากนี้เมื่อสอบถามเด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ คิดว่าทำอย่างไรจึงจะใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารทำความเข้าใจให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ผลโพลปรากฏว่า อันดับ 1 คือ การพูด อ่าน เขียน ในชีวิตประจำวันต้องใช้ให้ถูกต้อง ร้อยละ 72.55 อันดับ 2 เลือกใช้คำที่ถูกต้อง เหมาะสมกับสถานการณ์ และกาลเทศะ ร้อยละ 54.63 อันดับ 3 การสื่อสารที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ถูกต้องตรงประเด็น ร้อยละ 50.84

น.ส.สุดาวรรณ กล่าวด้วยว่า ส่วนข้อเสนอแนะให้ภาครัฐมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะด้านภาษาไทยให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของการใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติไทย อาทิ การสร้างพื้นที่เรียนรู้ โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมภาษาไทยหลากหลายรูปแบบ เช่น นิทรรศการ การประกวด การแข่งขัน ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ การผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่เข้าถึงง่าย เช่น วิดีโอ เกม เพลง ปลูกฝังความรักภาษาไทยตั้งแต่เด็ก ให้ภาครัฐสนับสนุนการวิจัย ศึกษาพฤติกรรมการใช้ภาษาไทย เพื่อพัฒนาแนวทางส่งเสริมแต่ละกลุ่มเป้าหมาย การสร้างเครือข่าย จับมือหน่วยงานต่างๆ ส่งเสริมภาษาไทยให้เข้มแข็งมากขึ้น เสนอให้ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการเรียนรู้ภาษาไทย เช่น แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายและสะดวก จัดกิจกรรมกระตุ้นให้ใช้ภาษาไทยอย่างสร้างสรรค์ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจ ยกย่องบุคคลต้นแบบที่ใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น