แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ไม่ว่าจะเป็น 5จี และ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ได้รับการจัดอันดับที่มีคุณภาพในอันดับต้นๆ ของเอเชีย!!
แต่ต้องยอมรับว่ายังมีคนบางกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร บนยอดดอย ภูเขาสูงและพื้นที่ชายขอบ ที่เครือข่ายมือถือไม่มีสัญญาณ และอินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง!?!
นั่นหมายความว่าคนกลุ่มนี้ขาดโอกาสที่จะใช้เทคโนโลยีในการยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเอง ทั้งในเรื่องการเรียน การประกอบอาชีพ รวมถึงสาธารณสุข
ที่ผ่านมา บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินโครงการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมแก่ชุมชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้กลุ่มคนในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี เป็นการแบ่งปันโอกาสทางการสื่อสารให้เกิดความทั่วถึงและเท่าเทียมในประเทศไทย
“เอกชัย ภัคดุรงค์” หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านกลยุทธ์องค์กร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) บอกว่า ไทยคมถือเป็นผู้ประกอบการดาวเทียมรายแรก และรายเดียวของไทย ในปัจจุบัน ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ได้ยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศแล้ว 8 ดวง และปลดระวางไปแล้ว 4 ดวง เหลือดาวเทียมให้บริการอยู่ 4 ดวง โดยไทยคมมีปณิธานสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และประเทศชาติให้เกิดความยั่งยืน
ที่ผ่านมา ไทยคมได้เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ และมีโครงการนำร่องที่ช่วยสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาตลอดชีวิตให้กับในพื้นที่ห่างไกล 24 จุด โดยตั้งอยู่ในภาคเหนือ 17 จุด และภาคอื่นๆ อีก 7 จุด เพื่อเป็นการ ขยายโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกับชาวบ้านและเด็กเยาวชน
“จากที่ไทยคมได้สำรวจพบมีชุมชนหมู่บ้านกว่า 4,000 แห่ง และโรงเรียนอีก 1,000 แห่ง ที่อยู่ห่างไกล ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ สัญญาณมือถือยังไม่มี ทำให้เด็กและชาวบ้านขาดโอกาส เราจึงพยายามร่วมมือกับภาครัฐ คือ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าไปสำรวจถึงความต้องการของชาวบ้าน และเด็กนักเรียน หากประเมินแล้วว่ามีความเหมาะสมก็จะสนับสนุนบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม”
“เอกชัย ภัคดุรงค์” บอกต่อว่า ล่าสุด สานต่อโครงการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมแก่ชุมชนในพื้นที่ห่างไกล นำร่องที่ ชุมชนดอยเวียง อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ นำเสนอเทคโนโลยีดาวเทียมรุ่นใหม่ และบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศ ตอบโจทย์การใช้งานของชุมชนในหลายรูปแบบ เช่น การแพทย์ทางไกล การศึกษาดิจิทัล การทำธุรกรรมออนไลน์ และการเชื่อมต่อเครือข่ายโทรศัพท์มือถือผ่านดาวเทียม
“การดำเนินโครงการที่ผ่านมาใช้ดาวเทียมไทยคม 4 หรือ ไอพีสตาร์ ซึ่งเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ถือเป็นดาวเทียมใหญ่ที่สุดของเอเชีย และเป็นดาวเทียมอินเทอร์เน็ตดวงแรกและดวงเดียวของโลก ปัจจุบันกำลังใกล้ปลดระวางหลังใช้มา 18 ปี จึงเป็นเทคโนโลยีรุ่นเก่า ทำให้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม มีความเร็วประมาณ 30 Mbps แต่ในต้นปี 68 จะมีดาวเทียมดวงใหม่ คือ ไทยคม 9A , ไทยคม 9 และ ปี 70 คือ ไทยคม 10 ให้บริการ ซึ่งใช้เทคโนโลยีใหม่ จะช่วยให้อินเทอร์เน็ตมีความเร็ว เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100 Mbps ช่วยให้การเชื่อมต่อมีความเร็ว และเสถียรมากขึ้น จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชนได้”
ก่อนหน้าที่จะมีอินเทอร์เน็ต คุณครูจะต้องใช้แบบเรียนในการสอน ข้อมูลอยู่ในโน้ตบุ๊ก แต่พอมีอินเทอร์เน็ตช่วยให้ครูนำคอนเทนต์หรือเนื้อหาการเรียนที่ใหม่ และเป็นอินเทอร์แรคทีฟ โต้ตอบปฏิสัมพันธ์กันได้ ช่วยเปลี่ยนโลกได้มาก นอกจากนี้ในส่วนของชาวบ้านที่ป่วยยังสามารถใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อเพื่อหาหมอทางไกล หรือ เทเลเมดิซีน ได้ ไม่ต้องเดินทางลงเขาไปในเมือง เป็นต้น
ดาวเทียมดวงใหม่ มีเทคโนโลยี Software Defined High Throughput Satellite หรือ SD-HTS โดดเด่นด้วยการส่งสัญญาณที่มีเสถียรภาพ และเข้าถึงทุกพื้นที่ รวมทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่และปริมาณช่องสัญญาณในการให้บริการได้ และด้วยคุณสมบัติทางเทคโนโลยีที่ล้ำหน้านี้ และไทยคมได้พัฒนาโซลูชันใหม่ๆ เพื่อพัฒนาชุมชนแห่งนี้ เช่น การเผยแพร่ภาพและเสียง (Streaming) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เร็วและแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถใช้งานได้หลายรูปแบบ อาทิ ระบบสาธารณสุขทางไกล การศึกษาแบบดิจิทัล การทำธุรกรรมออนไลน์ และการรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีบริการเชื่อมต่อเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 4G/5G ผ่านดาวเทียมที่มีเสถียรภาพ ช่วยเชื่อมโยงการติดต่อสื่อสารให้แก่ประชาชนได้อย่างครอบคลุม รวมถึงยังมีอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณที่สามารถติดตั้งได้สะดวก รวดเร็ว พกพาได้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถการใช้งานให้แก่ชุมชนได้หลายๆ ด้าน พร้อมมีการประเมินความสำเร็จของโครงการในทุกๆ ปี
“เอกชัย ภัคดุรงค์” บอกต่อว่าไทยคมยังได้นำบริการที่ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการดาวเทียม LEO ชั้นนําระดับโลก กับบริการโซลูชันอุปกรณ์ IoT จากระบบดาวเทียม LEO เพื่อสนับสนุนด้านความปลอดภัยและการติดตามทรัพย์สิน ให้แก่คนในชุมชนและนักท่องเที่ยว รวมไปถึงแพลตฟอร์มเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Tech ที่นำความเชี่ยวชาญในด้านธุรกิจดาวเทียม มาต่อยอดเป็นบริการ Space Tech ด้วยการนำข้อมูล Big Data จากอวกาศ
อาทิ ภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลภูมิสารสนเทศ มาวิเคราะห์ร่วมกับ Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML) มาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มและบริการใหม่ๆ ภายใต้ Earth Insights ที่ให้บริการแก่ชุมชน ในหลายมิติ ได้แก่ การประเมินคาร์บอนเครดิต (CarbonWatch) การเกษตรแม่นยำ (CropWatch) การใช้ประโยชน์ที่ดิน (CityWatch) การป้องกันภัยพิบัติ (ClimeWatch) และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกด้วยโดรนสำรวจ (CirrusWatch) สิ่งเหล่านี้ล้วนจะมาช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ด้วยการประยุกต์ใช้บริการเทคโนโลยีอวกาศจากไทยคม
ด้าน “พีรยา พิศาลวนาลัย” ครู ศศช. ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง”บ้านดอยเวียง บอกว่า เข้ามาเป็นครูที่นี่ได้ 9 เดือนถึงเป็น รร.ห่างไกลจากเมืองใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง เนื่องจากอยู่บนดอย ถนนไม่ดี โดยเปิดสอนในระดับประถมศึกษา ถึงมัธยมศึกษา ปีนี้มีนักเรียน 9 คน แบ่งการเรียนระดับชั้นละ 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ปีก่อนมีเด็กจบ ม.ปลาย 3 คนเข้าไปเรียนต่อในเมือง หากไม่มีอินเทอร์เน็ต สัญญาณโทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสาร ก็จะลำบากมาก การเรียนสอนได้แต่ตามหนังสือเรียน แต่เมื่อมีอินเทอร์เน็ตมาช่วยให้พัฒนาหรือหาสื่อการสอนแบบออนไลน์ได้
นอกจากนี้หากมีชาวบ้านป่วย มีเหตุฉุกเฉินสามารถใช้ติดต่อกับหน่วยงานพื้นที่ด้านล่างในเมืองได้ ขณะเดียวกันศูนย์ฯ ยังได้นำอินเทอร์เน็ตมาใช้สอนชาวบ้านในชุมชนที่มีความสนใจหาความรู้ หรือใช้ประกอบอาชีพ เช่น ค้าขายออนไลน์ เนื่องจากดอยเวียงมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ กาแฟ และ ลิ้นจี่ ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตชาวบ้านได้
จิราวัฒน์ จารุพันธ์