ในช่วงเวลาของการปฏิวัติทางดิจิทัล จากเรื่องนี้ “ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์” ผู้เชี่ยวชาญการสื่อสารแบรนด์และธุรกิจที่ยั่งยืน มองโจทย์และความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนไป โดยมองว่า ปัจจุบันเราเริ่มเห็นสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจหลายแห่งในโลกกำลังปรับตัวรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ
เห็นได้จากข้อมูล Association to Advance Collegiate Schools of Business : AACSB สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจและการบัญชีทั่วโลก ได้เปิดเผยแนวโน้มใหม่ในการพัฒนาการศึกษาพบว่า แนวโน้มการพัฒนาสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจในวันนี้ จะมุ่งเน้นที่การผสมผสานเทคโนโลยีโดยนำเอา AI เข้าไปใช้เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจและมีวิธีการเรียนรู้ของตัวเอง การทำหลักสูตรและงานวิจัยที่มีความเป็น “สหวิชาชีพ” (Interdisciplinary) และให้ความสำคัญกับการออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นเรื่อง “หลายเจเนเรชั่น” (Intergenerational) เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต เรื่องจะเป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็นภาพห้องเรียนที่จะมีคนหลายวัยจะ 20 ปี 30 ปี 40 ปี หรือ 50 ปี ที่เรียนในห้องเรียนเดียวกัน
สิ่งสำคัญเราต้องปรับหลักสูตร
ให้เท่าทันโลกธุรกิจจริง
โจทย์ที่สำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งในการปรับตัวของโรงเรียน คือ การปรับหลักสูตรและเนื้อหาให้เท่าทันกับโลกธุรกิจจริงมากขึ้น บทความจาก Times Higher Education ที่เผยแพร่ในเดือนมิ.ย. 67 ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นประเด็นนี้ โดยหยิบยกเรื่อง“ความยั่งยืน” เป็นหนึ่งในเนื้อหาที่ถูกมองว่า ต้องปรับให้เท่าทันการพัฒนาของแนวคิดและความร่วมสมัย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื้อหาความยั่งยืน และความรับผิดชอบต่อสังคม ESG (Environment, Social, Governance) ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อหาหลักสูตรบริหารธุรกิจทั่วโลก ในประเทศไทยเองมีการนำเนื้อหาเหล่านี้ใส่ไว้ในหลักสูตรบริหารธุรกิจกว่า 68%
ที่ผ่านมาแนวทางการเรียนด้านความยั่งยืนแบบเดิมในโรงเรียนบริหารธุรกิจโดยส่วนใหญ่จะเป็นวิชาเลือกสำหรับนักศึกษาที่สนใจในหัวข้อนี้ แยกส่วนจากวิชาหลักไม่ว่า จะเป็นการเงิน บัญชี การตลาด วิธีคิดแบบแยกส่วนและการมองเรื่องความยั่งยืนกับธุรกิจแบบไซโล ทำให้การทำงานเรื่องนี้ประสบปัญหาทั้งในสถาบันการศึกษาเองและในองค์กรธุรกิจ
เปลี่ยนความยั่งยืนแบบ
“โลกสวย” เป็น “เท่าทันโลก”
ว่ากันว่า ยุคของการมองแนวทางความยั่งยืนเป็นเพียงการส่งเสริมเพื่อให้บริษัทมีผลกำไรและทำให้เกิดใบอนุญาตทางสังคม (License to Operate) นั้นจบลงแล้ว การจะทำให้หลักสูตรและเนื้อหาเท่าทันโลกธุรกิจจริงต้องเข้าใจสถานการณ์จริงเกี่ยวกับความยั่งยืนวันนี้ที่ว่า ธุรกิจกำลังเผชิญหน้าแรงกดดัน จากการฟอกเขียว (Greenwash) แรงกดดันด้านกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้น และการลุกขึ้นมาตอบโต้และถูกตั้งคำถามจากการทำ ESG ของธุรกิจ
“เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะสอนความยั่งยืนแต่ในแง่มุมโลกสวย สิ่งสำคัญวันนี้คือการเน้นยํ้าถึงการแลกเปลี่ยน การพูดคุยทั้งในเชิงกว้างและลึก จริงจังกับคำถามที่เกี่ยวกับการกำกับดูแล ขอบเขตงานของทีมความยั่งยืน สิ่งเหล่านี้จะเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาในการไปสู่ความท้าทายที่กำลังจะต้องเผชิญหน้าในองค์กรต่าง ๆ ”
ภายใต้วิธีคิดแบบใหม่ของการเรียนการสอนความยั่งยืนต้องให้ความสำคัญกับทักษะการเจรจาต่อรองและการสร้างพันธมิตร มุ่งเน้นเนื้อหาสอดคล้องวิชาหลักที่เน้นความท้าทายเชิงกลยุทธ์ แทนที่การมองความยั่งยืนเป็นแค่การบริหารความเสี่ยง การปฏิบัติตามกฎหมาย หรือแค่การสร้างภาพลักษณ์ผ่านรายงานเท่านั้น รวมไปถึงความรับผิดชอบด้านการเมืองขององค์กร ในการแสดงจุดยืนในประเด็นต่าง ๆ ทั้งในระดับนโยบาย และการกระทำ ที่สอดคล้องกับสิ่งที่พูด เช่นที่เราเห็นความเคลื่อนไหวในหลายบริษัท อย่าง ยูนิลีเวอร์ ที่กำลังปรับท่าทีทางนโยบายให้สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนของบริษัท ฯลฯ
เรายังเห็นความพยายามในการสร้างชั้นเรียนความยั่งยืนแบบใหม่ อย่างสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจฮาร์วาร์ด Harvard Business School (HBS) ในการทำงานร่วมกับองค์กรระดับโลก เช่น ยูนิลีเวอร์ และไนกี้ หรือที่ Oxford ในปี 2024 นักศึกษาทุนของ BMW ทำโครงการด้านความยั่งยืนที่ Plant Oxford โดย BMW MINI Plant Oxford ได้ร่วมมือกับ Oxford University’s SDG Impact Lab พัฒนาด้านความยั่งยืน สำหรับกรอบกลยุทธ์ยุคใหม่ของ BMW ในอนาคต
ความเคลื่อนไหวของสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจ ชั้นนำระดับโลกเป็นจุดเริ่มต้นของหนทางอันยาวไกล ที่เป็นโจทย์ของโรงเรียนธุรกิจทั่วโลกท่ามกลางภูมิทัศน์การศึกษาธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปแบบไม่มีวันหวนกลับ.