ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญของไทยเห็นชอบตามคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากการรณรงค์ของพรรคเพื่อเสนอปฏิรูปกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ มาตรา 112 จนทำให้ 11 กรรมการพรรคก้าวไกลถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลา 10 ปีนั้น
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ดีโพรซ มูเชนา ผู้อำนวยการอาวุโส แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นชอบกับการยุบพรรคก้าวไกล เป็นการตัดสินใจที่ไร้ความชอบธรรม ซึ่งเผยให้เห็นความเพิกเฉยโดยสิ้นเชิงของทางการไทย ต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทย การยุบพรรคการเมืองเพียงเพราะเสนอให้ปฏิรูปกฎหมาย ถือเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการสมาคม เป็นการละเมิดต่อสมาชิกรัฐสภาซึ่งเพียงแต่เสนอกฎหมายตามหน้าที่เท่านั้น
“การคุกคามอย่างต่อเนื่องของทางการไทยต่อนักการเมืองฝ่ายค้าน เป็นภาพสะท้อนถึงความย้อนแย้งอย่างสิ้นเชิงกับคำมั่นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยประกาศเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำโลกด้านสิทธิมนุษยชน โดยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ทางการไทยต้องกลับคำวินิจฉัยที่สั่งให้ยุบพรรคอย่างเร่งด่วน และยุติการใช้กฎหมายเป็นอาวุธเพื่อข่มขู่และคุกคามผู้วิจารณ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักการเมืองฝ่ายค้าน”
นับแต่การทำรัฐประหารในปี 2557 ในประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่า กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ได้ถูกใช้อย่างกว้างขวางเพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวโดยสงบ และเราได้เรียกร้องกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องให้ปรับปรุงเนื้อหาของกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เคยบันทึกข้อมูลการยุบพรรคฝ่ายค้านในไทยมาแล้ว รวมทั้งการยุบ พรรคไทยรักษาชาติ ในปี 2562 และ พรรคอนาคตใหม่ ในปี 2563 และได้ประณามการกระทำ เช่นนี้ เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการสมาคม ในการเลือกตั้งทั่วไปของไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลได้ 151 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร นับเป็นจำนวนสูงสุดในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากไม่ได้รับคะแนนเสียงมากเพียงพอจากวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งของกองทัพ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นองค์กรที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่มีจุดยืนใดในแง่ข้อพิพาททางการเมือง และยึดมั่นอย่างเคร่งครัดต่อภารกิจในฐานะหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน.