สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองลูเซิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ว่ากองทัพสวิตเซอร์แลนด์ใช้ทะเลสาบลูเซิร์น ทะเลสาบทูน หรือทะเลสาบเนอชาแตล บนเทือกเขาแอลป์ เป็นสถานที่ทิ้งอาวุธเก่า เพราะเชื่อว่าสามารถกำจัดได้อย่างปลอดภัยที่นั่น
ในทะเลสาบลูเซิร์นเพียงแห่งเดียว มีอาวุธประมาณ 3,300 ตัน และในน่านน้ำของทะเลสาบเนอชาแตลอีก 4,500 ตัน โดยกองทัพอากาศสวิตเซอร์แลนด์ใช้ทะเลสาบเหล่านี้ เป็นสถานที่ฝึกทิ้งระเบิดจนถึงปี 2564 ซึ่งอาวุธบางส่วนอยู่ลึกลงไป 150-220 เมตร และบางส่วนอยู่ในทะเลสาบเนอชาแตล อยู่ลึกลงไปเพียง 6-7 เมตรจากผิวน้ำ
ขณะนี้ กระทรวงกลาโหมสวิสเสนอเงินรางวัล 50,000 ฟรังก์ (ราว 1.9 ล้านบาท) ให้แก่ผู้ที่สามารถคิดค้นวิธีจัดการกับอาวุธเหล่านี้ได้มากที่สุด แนวทางดีที่สุดสำหรับการเก็บกู้กระสุนที่ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 34,419 ล้านบาท)
นายมาร์กอส บูเซอร์ นักธรณีวิทยาชาวสวิส เตือนถึงอันตรายจากการทิ้งกระสุน ว่ามีความเสี่ยง 2 ประการ ได้แก่ ความเสี่ยงที่จะเกิดการระเบิดได้ เนื่องจากในกองทัพไม่ได้ถอดฟิวส์ออกก่อนทิ้งกระสุน และการปนเปื้อนของน้ำและดิน เช่น ระเบิดทีเอ็นที ซึ่งมีสารพิษสูง อาจทำให้ทะเลสาบมีตะกอนปนเปื้อนได้
ด้านรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ยอมรับว่า ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ทัศนวิสัยไม่ดี, วัสดุที่เป็นแม่เหล็ก และน้ำหนักกระสุนแต่ละลูก ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ ในการกู้คืนกระสุนอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การประเมินแนวทางการกู้คืนที่เป็นไปได้ เมื่อปี 2548 แสดงให้เห็นว่า การกู้คืนกระสุนทั้งหมดมีความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อระบบนิเวศที่อ่อนไหวของทะเลสาบ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กองทัพของสวิตเซอร์แลนด์ละเลยเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์
ย้อนกลับไปในปี 2490 เกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ ที่หมู่บ้านมิตโฮลซ์บนเทือกเขาแอลป์ หลังกระสุน 3,000 ตัน ซึ่งเป็นผลจากการที่กองทัพสวิตเซอร์แลนด์เก็บกระสุนเหล่านั้นไว้ใกล้กับหมู่บ้าน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 9 ราย
ขณะที่เมื่อ 3 ปีก่อน กองทัพสวิตเซอร์แลนด์ยอมรับว่า กระสุนที่ยังไม่ระเบิด 3,500 ตัน ซึ่งยังฝังอยู่บนภูเขานั้นไม่ปลอดภัย และต้องมีการเก็บกู้ครั้งใหญ่ แต่สำหรับประชาชนในพื้นที่ นั่นหมายถึงการต้องอพยพออกไปนานถึง 10 ปี
นอกจากนี้ มีผู้เสียชีวิต 11 รายในอุโมงค์ก็อตธาร์ด ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักสายหนึ่งของยุโรปทางตอนเหนือจดใต้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากเพลิงไหม้ที่ปะทุขึ้นจากรถบรรทุก 2 คันชนกัน เมื่อปี 2544 พื้นที่ดังกล่าวมีวัตถุระเบิดจำนวนมาก ซึ่งถูกเก็บไว้ในคลังสินค้า ที่ตั้งอยู่ใกล้กับปากอุโมงค์
และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กองทัพสวิตเซอร์แลนด์เปิดเผยว่า เมื่อปีที่แล้ว มีการพบวัตถุระเบิดที่ไม่ทำงาน ในเขตชนบทของประเทศ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2565
อนึ่ง ธารน้ำแข็งที่ละลายลงท่ามกลางผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เผยให้เห็นกระสุนปืนที่ถูกใช้งานแล้ว และกระสุนจริงที่เหลืออยู่จากการฝึกซ้อมบนภูเขาสูง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน นับเป็นมรดกของยุทธศาสตร์ จากการป้องกันประเทศแบบ “เป็นกลางทางอาวุธ”.
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES