มูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม สานต่อปรัชญา “ก้าวข้ามขีดจำกัด” จัดกิจกรรมค่ายศิลปะประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ศิลปะเพื่อมวลมนุษย์: หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน” (Art for All: Diversity, Creativity, Sustainability) เปิดมิติพัฒนาเยาวชนผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสด้วยศิลปะ บ่มเพาะทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ และประสบการณ์ที่มีคุณค่าผ่านนวัตกรรมการเรียนร่วมกัน มุ่งสู่การขับเคลื่อนสังคมที่มีความหลากหลายให้เติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ สมาชิกวุฒิสภา ประธานผู้ก่อตั้งมูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ กล่าวถึง โครงการศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้แนวคิด “ศิลปะเพื่อมวลมนุษย์: หลากหลาย สร้างสรรค์ ยั่งยืน” (Art for All: Diversity, Creativity, Sustainability) ที่จัดขึ้นโดยมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพอย่างสร้างสรรค์ สอดรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
การพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ (Human Capital) เป็นกุญแจสำคัญที่สร้างพลังและนำพาให้เยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการ/ผู้ด้อยโอกาสได้รับการพัฒนา บ่มเพาะทักษะความคิดสร้างสรรค์และเตรียมความพร้อม ก้าวสู่ความท้าทายของสังคมที่แตกต่าง หลากหลายด้วยปรัชญา “ก้าวข้ามขีดจำกัด” ของ Art for All ที่ส่งเสริมให้ทุกคนพึ่งพาตนเองได้ตามศักยภาพที่มีอยู่ โดยใช้นวัตกรรมการเรียนร่วมเป็นตัวจุดประกายให้ทุกคนช่วยกันเติมเต็มในศักยภาพซึ่งกันและกัน ผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ที่มีศิลปะเป็นเครื่องมือเชื่อมประสานและหลอมรวมความแตกต่าง และใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเอื้ออาทร”
“โครงการศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ ประจำปี 2567 เพิ่งผ่านไปในระหว่างวันที่ 9–11 สิงหาคม 2567 ณ กระทรวงวัฒนธรรม และ Art for All Village มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย เยาวชนที่มีความบกพร่องด้านสายตา การได้ยิน การเคลื่อนไหว และสติปัญญา รวมถึงเยาวชนที่ไม่พิการ ครูอาจารย์ด้านศิลปะ ผู้ปกครอง อาสาสมัคร และวิทยากรผู้มีชื่อเสียง ศิลปินแห่งชาติ รวมถึงศิลปินจากประเทศสมาชิกอาเซียน ร่วมบ่มเพาะ เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ให้แก่เด็ก ๆ และเยาวชนได้เรียนรู้และร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเร่งพัฒนาศักยภาพของตนเอง”
ศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์กล่าวอีกว่า การหลอมรวมความแตกต่าง ถือเป็นจุดเริ่มต้นและแนวทางสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาวให้กับสังคม ขณะเดียวกันก็มุ่งสร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส และนำมาประยุกต์ใช้ในการเสริมสร้างพลังคนรุ่นใหม่ รองรับการพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์ โดยทั้งหมดเป็นบทพิสูจน์เชิงประจักษ์ที่ Art for All ดำเนินมาตลอดระยะเวลากว่า 28 ปี พร้อมกับวิสัยทัศน์ที่จะสร้างความเสมอภาคให้กับมวลมนุษย์ โดยการบูรณาการศาสตร์ด้านศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น ทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ นาฏยศิลป์และวรรณศิลป์ ฯลฯ นำมาสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของทุกคน
ในปี 2567 ยังเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 57 ปีแห่งการก่อตั้งอาเซียน โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้เชิญศิลปินจากประเทศสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เข้าร่วมจัดกิจกรรมการเรียน การสอนและร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ภายใต้แนวคิด “ศิลปะเพื่อการรีไซเคิลและการอัพไซเคิลเพื่อความยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียน” (The Art of Recycling and Upcycling–towards the Sustainable ASEAN Region) ส่งเสริมวิธีการจัดการขยะหรือสิ่งของเหลือใช้ ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานในเชิงศิลปะร่วมกัน สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกรอบความคิดของพลเมืองอาเซียนและแนวปฏิบัติอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ โครงการศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ (Art for All) เปิดตัวสู่สังคมนานาชาติ เชิญคณะผู้แทนจากนานาชาติเข้าร่วมค่ายศิลปะเพื่อมวลมนุษย์นับแต่ปี พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นเวทีในการแสดงออกแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของเยาวชนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพของสังคมและสร้างเจตคติที่ดีระหว่างกัน เพื่อนำสู่สังคมที่มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
สอดรับกับวิสัยทัศน์ ASEAN Vision 2025 การทำให้อาเซียนเป็นชุมชนของสังคมแห่งความเอื้ออาทร โดยยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และแสวงหาการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของทุกภาคส่วนในสังคม ตลอดจนนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกันของคนทุกคนในสังคม.