สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ว่าข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ หรือระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย. ที่ผ่านมา พบผู้คนที่อาศัยอยู่เพียงลำพังเสียชีวิตที่บ้านในญี่ปุ่นทั้งสิ้น 37,227 ราย
ตัวเลขดังกล่าวแบ่งเป็นผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง 28,330 ราย ซึ่งคิดเป็นราว 76% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด


เมื่อจำแนกตามอายุ พบผู้ที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวอยู่ในกลุ่มอายุ 85 ปีขึ้นไปมากที่สุด อยู่ที่ 7,498 ราย และน้อยที่สุดในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปี อยู่ที่ 473 ราย ซึ่งตอกย้ำว่ายิ่งกลุ่มอายุเพิ่มมากขึ้น แนวโน้มอัตราการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวจะสูงขึ้นเช่นกัน


ขณะที่เมื่อจำแนกตามเพศแล้ว ผู้เสียชีวิตที่บ้านเพียงลำพังเป็นผู้ชายราว 25,600 ราย และผู้หญิงราว 11,600 ราย เหตุการณ์ลักษณะนี้พบบ่อยเป็นพิเศษในเขตมหานครต่าง ๆ เช่น กรุงโตเกียว และจังหวัดคานากาวะ ชิบะ ไซตามะ และโอซากา ซึ่งในกรุงโตเกียวพบผู้เสียชีวิตลักษณะนี้มากที่สุด 4,786 ราย


สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นรายงานว่า จำนวนครัวเรือนคนเดียวในญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น พลวัตการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความท้าทายในการดำรงชีพ และปัญหาการฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปัญหาการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวทวีความรุนแรงมากขึ้น


ด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงได้ออกพระราชบัญญัติส่งเสริมนโยบาย เพื่อจัดการกับความเหงาและการอยู่อย่างโดดเดี่ยว เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ท่ามกลางความพยายามที่จะบรรเทาปัญหาความโดดเดี่ยวซึ่งเลวร้ายมากขึ้น.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA