วันที่ 1 ก.ย. เป็นวันที่คึกคักสำหรับพรรคประชาชน ( ปชน.) เพราะเป็นการส่งผู้สมัครลงชิงสนามท้องถิ่นในนามพรรคครั้งแรก คือนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ( อบจ.) ราชบุรี ซึ่งความต้องการของพรรคประชาชนเรื่องหนึ่งคือการ “ปักธงท้องถิ่น เพื่อทลายวัฒนธรรมบ้านใหญ่” พรรคประชาชนส่งนายชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงศ์ ผู้สมัครจากพรรค ปชน. หมายเลข 1 แข่งกับนายวิวัฒน์ นิติกาญจนา หรือกำนันตุ้ย เบอร์ 2 อดีตนายก อบจ.ราชบุรี ซึ่งถือเป็นบ้านใหญ่เมืองโอ่ง
ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อนับไปได้ครึ่งทาง อันดับ 1 นายวิวัฒน์ นิติกาญจนา หมายเลข 2 นำมาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 150,945 คะแนน อันดับ 2 นายชัยรัตน์ ศักดิ์อิสระพงษ์ หรือหวุน จากพรรคประชาชน หมายเลข 1 อยู่ที่ 103,255 คะแนน จ.ราชบุรี มี 10 อำเภอ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 688,532 คน มีหน่วยเลือกตั้ง 1,149 หน่วย แม้ยังไม่มีการประกาศผลอย่างเป็นทางการก็จะเห็นได้ว่า แชมป์เก่า คือนายวิวัฒน์ เป็นฝ่ายชนะ เพราะคะแนนนำหลักห้าหมื่น
อีกสนามหนึ่งคือการเลือกตั้ง สส.พิษณุโลก เขต 1 แทนนายประดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคประชาชนส่งนายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หรือโฟลค ชิงเก้าอี้กับนายจเด็ศ จันทรา หรือบู้ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งนายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สส.และผู้บริหารจะช่วยกันลงพื้นที่ แต่ยังต้องดูว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะร่วมลงพื้นที่ด้วยได้หรือไม่ เพราะคาบเกี่ยวในเรื่องของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ( อาจโดนร้องเรื่องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐช่วยหาเสียง ) ตอนนี้ต้องระวังให้ได้มากที่สุด นักร้องเยอะเหลือเกิน
สิ่งที่ยังเป็นกระแสอยู่ คือผลกระทบจากการที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเทียบเชิญจากพรรคเพื่อไทยร่วมรัฐบาล สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ความนิยมต่อประชาธิปัตย์ ศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ 1,346 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29 – 31 ส.ค. พบว่า คะแนนนิยมต่อพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มขึ้นหรืออยู่ในแดนบวก เพียง 39.9% ในขณะที่คะแนนนิยมส่วนใหญ่ต่อพรรคประชาธิปัตย์ลดลงหรืออยู่ในแดนลบ ถึง 60.1% ในกลุ่มคนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนิยมต่อพรรคเพื่อไทยกลับเพิ่มขึ้นหรืออยู่ในแดนบวก 80.4% ในขณะที่คะแนนนิยมต่อพรรคเพื่อไทยลดลงหรืออยู่ในแดนลบ 19.6% ในกลุ่มคนเคยเลือกพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์เสียคะแนนนิยมในกลุ่มพนักงานเอกชนที่เคยเลือกมากที่สุด คือ 81.1% รองลงมาคือกลุ่มเกษียณอายุ 66.7% กลุ่มค้าขายอาชีพอิสระ 65.3% กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ 62.3% และกลุ่มเกษตรกร 54.7%
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า การที่มีคนแสดงความเห็นในเพจเฟซบุ๊กของพรรคประชาธิปัตย์ จนต้องปิดช่องแสดงความเห็นนั้น ภาษาโซเชียลเรียกว่าทัวร์ลงจนไม่มีลานจอดรถทัวร์เมื่อเกิดกระแสติดลบ รกอบกู้มาให้เป็นเสมอตัว หรือเท่าทุน ก็ยากกว่าเดิม “ขอให้ชาวประชาธิปัตย์จดจำมือทุกมือ ทุกชื่อที่โหวตสนับสนุนให้พรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาลกับระบอบทักษิณไว้ให้ดี เผื่อวันข้างหน้าเมื่อเกิดความเสียหายใดๆเกิดขึ้นกับพรรค จะได้ทวงถามความรับผิดชอบทางการเมืองได้”
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับมามีบทบาทในประเทศนั้น เห็นว่าอดีตนายกฯ ผู้นี้มีบทบาทมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่จะเปิดเผยมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง นายทักษิณเคยมีอำนาจมหาศาล แต่สุดท้ายต้องยุติลงด้วยหลายสิ่งที่เป็นความไม่ถูกต้อง ถ้ายังไม่เก็บเกี่ยวบทเรียนตรงนี้ ความเสี่ยงที่จะเกิดแบบนี้ก็ยังมีอีก และไม่อยากให้ “นายกอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร” มีปัญหาเช่นเดียวกับพ่อ อีกทั้งยังเห็นว่า
การจะเกิดรัฐประหารขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นที่ไม่ใช่เรื่องนามสกุล
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พูดถึงการชี้แจงกับแฟนคลับพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงว่า ต้องบอกว่า ประชาธิปัตย์ยุคนี้กับยุคก่อนต่างกัน ใบไม้ผลัดใบไปแล้ว จะไปเจ้าคิดเจ้าแค้นอะไรกัน ไม่เช่นนั้นก็ไปไม่รอด ต้องเอาประเทศชาติบ้านเมืองไปข้างหน้าก่อน ดังนั้น การสลายขั้ว ไม่ทะเลาะเบาะแว้งเป็นเรื่องดี เราเสียหายกันมา 16 ปี ต้องรู้จักอโหสิ อภัยบางอย่าง เรื่องผ่านมาแล้วก็ผ่านไป หากพลิกไปข้างหลัง ก็ไปข้างหน้าไม่ได้ วันนี้ประชาชนต้องรอด
ในวันที่ 3-5 ก.ย.จะมีการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2568 วาระสองและสาม ซึ่งตกลงกันไว้ว่าจะอภิปรายในกรอบ 3 วันและลงมติช่วงเย็นวันที่ 5 ก.ย. ฝ่ายรัฐบาลนั้น มั่นใจจะได้เสียงสนับสนุนถึง 300 เสียง แม้จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) แล้วก็ตาม
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า พรรคประชาชนเตรีมความพร้อมไว้แล้ว ทั้งตัวบุคคลและข้อมูล เพราะข้อมูลที่ได้จากการทำงานในกรรมาธิการมีหลากหลายประเด็น จะเสนอให้ประชาชนเห็นถึงวิธีการจัดประมาณที่มีปัญหาของรัฐบาล เราคงจะเน้นไปที่เรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องใช้งบประมาณปี 68 อีกกว่า 3 แสนล้านบาท แต่จนแล้วจนรอด รัฐบาลก็ยังไม่สามารถหางบประมาณมาเพียงพอที่จะใช้กับดิจิทัลวอลเล็ตทั้งโครงการที่เคยตั้งงบประมาณไว้ 4.5 แสนล้านบาท
สำหรับงบปี 68 หามาได้แค่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาทเศษ เท่ากับว่าจะครอบคลุมที่จะแจกไม่ว่าจะเป็นเงินสดหรือเงินดิจิทัลได้เพียงแค่ 18 ล้านคน และรัฐบาลก็ยังคงมืดแปดด้านที่จะหางบประมาณมาให้ครบ ฉะนั้น คนที่เหลือที่เคยลงทะเบียนเอาไว้และไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังอยู่ในภาวะวิกฤตที่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้เงินดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ ทั้งนี้ น.ส.ศิริกัญญา ยังไม่มั่นใจเสียงโหวตของฝ่ายค้านว่า พปชร.จะมาโหวตร่วมกี่เสียง
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ทักษิณคิด นายกฯ อุ๊งอิ๊งทำ…ดีไหม?” สำรวจระหว่างวันที่ 26-28 ส.ค.2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการแสดงวิสัยทัศน์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในเรื่องแนวคิดของนายทักษิณเกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเงินสดให้กลุ่มคนเปราะบางและกลุ่มคนพิการในเดือน ก.ย.นี้
โดย ประชาชน 53.74% ระบุว่าเห็นด้วยมาก 21.14% ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย แต่ 17.56% ไม่เห็นด้วยเลย และ 7.56% ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย ความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวคิดของนายทักษิณ เกี่ยวกับการเวนคืนรถไฟฟ้าบางสายจากภาคเอกชนมาให้รัฐบาลบริหาร เพื่อให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง ประชาชน 43.82% เห็นด้วยมาก 25.88% ค่อนข้างเห็นด้วย แต่ 18.09% ไม่เห็นด้วยเลย 8.93% ไม่ค่อยเห็นด้วย และ 3.28% ระบุว่าไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวคิดของนายทักษิณ เกี่ยวกับการให้สิทธิชาวต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัยในรูปแบบการเช่าที่ดิน 99 ปี หลังจากนั้นจึงจะโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของรัฐ พบว่าประชาชน 70.92% ไม่เห็นด้วยเลย 14.11% ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ 7.79% ค่อนข้างเห็นด้วย 6.26% เห็นด้วยมาก และ 0.92% ไม่ตอบหรือไม่สนใจ สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวคิดของนายทักษิณ เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตการลงทุนเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ที่มีทั้งกาสิโน สวนสนุก และโรงแรมนั้น พบว่ากลุ่มตัวอย่าง 44.81% ไม่เห็นด้วยเลย 19.39% เห็นด้วยมาก 17.79% ค่อนข้างเห็นด้วย 16.72% ไม่ค่อยเห็นด้วย และ 1.29% ไม่ตอบหรือไม่สนใจ เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวคิดของนายทักษิณ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาธุรกิจที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้อง เพื่อนำภาษีที่จัดเก็บได้มาพัฒนาด้านการศึกษา พบว่า 34.81% ระบุว่าเห็นด้วยมาก 34.20% ไม่เห็นด้วยเลย 21.6% ค่อนข้างเห็นด้วย 8.63% ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย และ 0.76% ระบุว่า ไม่ตอบหรือไม่สนใจ.