ผศ. นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมา เปิดเผยว่า โรคสมาธิสั้น หลายคนอาจคิดว่าเกิดขึ้นได้กับเด็กเล็กเท่านั้น โดยจะมีอาการวอกแวกง่ายไม่ค่อยจดจ่อกับอะไรนาน ๆ แต่หารู้ไม่ว่าอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ได้เหมือนกัน ซึ่งลักษณะของอาการจะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการวางแผน การแก้ไขปัญหา ไม่สามารถจัดการกับเวลาได้เมื่อต้องทำงานที่มีกำหนดเวลา ทำงานไม่เสร็จ เพราะมีความผิดปกติของสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด การวางแผน การบริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่าง ๆ

โรคสมาธิสั้น

เกิดจากสมองส่วนหน้า ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสมาธิและพฤติกรรมทำงานลดลง ทำให้มีปัญหากับการทำงานที่ต้องใช้สมาธิ อยู่นิ่งนาน ๆ ไม่ได้ มักมีปัญหาในการจัดการกับเวลาเมื่อต้องทำงาน เช่น ทำงานไม่ทัน ขี้หลงขี้ลืม เบื่อ หรือหงุดหงิดง่าย หากเกิดความสงสัยว่าตัวเองหรือคนรอบข้างเสี่ยงที่จะเป็น โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ หรือไม่ สามารถทดสอบตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยแบบสอบถามนี้ – แบบสอบถาม คุณเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ หรือไม่ ?

โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่มีสาเหตุมาจากอะไร ?

  • พันธุกรรม เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เป็นโรคสมาธิสั้น หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ
  • ความผิดปกติในระบบประสาท
  • การสัมผัสความเสี่ยงจากสิ่งแวดล้อมในระหว่างแม่ตั้งครรภ์ เช่น ได้รับสารตะกั่วหรือโลหะ
  • การใช้แอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ในระหว่างตั้งครรภ์
  • คลอดก่อนกำหนด
  • น้ำหนักแรกเกิดต่ำ

โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. มีอาการสมาธิสั้นมาตั้งแต่เด็ก แต่ได้รับการรักษามาเป็นอย่างดี ผู้ใหญ่ที่มีโรคสมาธิสั้นประเภทนี้ จะสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ อาจมีอาการสมาธิสั้นหลงเหลืออยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถควบคุมตัวเองได้
  2. มีอาการสมาธิสั้นมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่ได้รับการรักษาที่ดี ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นประเภทนี้ยังสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ แต่อาจมีพัฒนาการช้าหรือมีอารมณ์ซึมเศร้า ต้องรับประทานยาเป็นประจำและต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
  3. มีอาการสมาธิสั้นตั้งแต่เด็กแบบไม่รู้ตัว ไม่ได้รับการรักษาจนเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีอาการสมาธิสั้นจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การทำงาน รวมไปถึงการเข้าสังคม

อาการของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่

  • วอกแวกง่าย ฟังอะไรจับใจความไม่ค่อยได้
  • ทำงานไม่เสร็จทันเวลาที่กำหนด 
  • ไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้
  • ทำงานผิดพลาดบ่อย
  • หาอะไรไม่ค่อยเจอ
  • ชอบผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมเริ่มทำงาน
  • ไปทำงานสายเป็นประจำ
  • หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ  
  • อารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย หายเร็ว
  • มีปัญหากับคนรอบข้างบ่อย ๆ
  • เบื่อง่าย คอยอะไรนาน ๆ ไม่ค่อยได้
  • เครียด หงุดหงิดง่าย
  • บางคนมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และนอนไม่หลับ

การรักษา โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ ทำอย่างไรได้บ้าง?

โรคนี้มีวิธีการรักษาที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยา ทั้งด้านการใช้ยาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • การรักษาด้วยยา ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับยารักษาที่ถูกชนิดและขนาดยาที่เหมาะสม ได้แก่
    • ยากลุ่มออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท เช่น ยา Methylphenidate ยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคสมาธิสั้น
    • ยากลุ่มไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท เช่น ยา Atomoxetine มักใช้ในกรณีผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยา Methylphenidate ได้
    • ยากลุ่มอื่น ๆ เช่น ยาต้านซึมเศร้า ยาคลายกังวล
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยนักจิตวิทยา สามารถปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการกระตุ้นอาการสมาธิสั้นได้ ดังนี้
    • วางแผนและจัดการเวลาให้เป็นนิสัย ให้ตัวเองวางแผนชีวิตและการทำงานให้ดีขึ้น รวมถึงเป้าหมายที่ต้องทำงานให้เสร็จไปทีละชิ้นเพื่อฝึกนิสัย และลดความกังวลด้วยการจดรายการที่ต้องทำ เขียนโน้ตเตือน หรือวางกรอบเวลาให้ชัดเจน
    • นอนหลับให้เพียงพอและมีคุณภาพ ปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับของตัวเองให้ได้ เช่น กำหนดเวลานอนให้เป็นปกติ กำหนดเวลาเข้านอน และรักษาพื้นที่การนอนหลับให้สบาย สงบ เอาทุกสิ่งที่จะรบกวนการนอนออกจากห้องนอนไป
    • ลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากเกินไปทำให้สมองทำงานหนัก เพิ่มความว้าวุ่นใจ และลดประสิทธิภาพโดยรวม ดังนั้นหลังใช้งานเสร็จควรวางอุปกรณ์เหล่านี้ลงเพื่อให้ตัวเองให้พักจากสิ่งต่าง ๆ ลดความฟุ้งซ่านลง
    • จัดการความกังวลอย่างเป็นเวลา สิ่งที่ควรจัดการ คือ พยายามจัดการความกังวลให้จบลงเร็วที่สุดไม่ลากยาวจนรบกวนเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องทำต่อไป
    • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยให้รับมือกับความเครียดและความวิตกกังวลได้ดี อีกทั้งยังช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้นด้วย
    • การรักษาปัญหาทางจิตเวชอื่น ๆ เนื่องจากผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมักจะมีโรคทางสภาวะจิตใจร่วมด้วย เช่น ปัญหาการเรียนรู้ วิตกกังวล อารมณ์เปลี่ยนแปลง ย้ำคิดย้ำทำ

โรคสมาธิสั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของแต่ละคนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และรับยารักษาอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากได้รับการรักษาเร็วก็จะทำให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติ ลดความเสี่ยงต่อเรื่องอื่น ๆ ในการใช้ชีวิต และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น